xs
xsm
sm
md
lg

เร่งชงข้อมูล "โนรา" ขึ้นทะเบียนมรดกโลกภายใน 31 มี.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“วีระ” เผยคืบหน้าดัน “การแสดงพื้นบ้านโนรา” สู่บัญชีมรดกโลกเร่งประสานส่งข้อมูลให้ยูเนสโกภายใน 31 มี.ค.นี้ ส่วน “นวดไทย” คาดเข้าสู่ที่ประชุมสมัชชาฯ ครั้งที่ 14 ที่จะมีขึ้นที่สาธารณรัฐโคลัมเบียปลายปีนี้ ระบุผลหารือ พณ.จ่อแก้พ.ร.บ.ส่งเสริมรักษามรดกภูมิปัญญาฯ เพิ่มเรื่องการปกป้องคุ้มครอง และพัฒนาเชื่อมโยงฐานข้อมูล

วันนี้ (27 มี.ค.) นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ครั้งที่ 3/2562 ว่า ที่ประชุมได้รับรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการนำเสนอ การแสดงพื้นบ้านโนรา เป็นรายการที่ประเทศไทย เสนอเข้าสู่การเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การยูเนสโก ในปี 2563 ภายใต้ชื่อ Nora, Dance Drama in Southern Thailand และอยู่ระหว่างการประสานงานจัดส่งเอกสารให้สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติของยูเนสโก ภายในวันที่ 31 มี.ค. นี้ ส่วนความคืบหน้าการนำเสนอ “นวดไทย” เข้าสู่รายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติในปีนี้นั้น ได้จัดส่งเอกสารเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะได้รับการพิจารณาในการประชุมสมัชชาสมัยสามัญ ครั้งที่ 14 ระหว่างวันที่ 9-14 ธ.ค. นี้ ณ กรุงโบโกตา สาธารณรัฐโคลัมเบีย

ทั้งนี้ ตนได้หารือร่วมกับ น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รมช.กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือ WIPO IGC ซึ่งมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ 2 ประเด็นหลัก เพื่อให้มีความครอบคลุมกับการดูแล และคุ้มครอง ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของมรดกทางวัฒนธรรม โดย วธ.จะปรับปรุงและแก้ไข พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2559 เพิ่มเติมเรื่องการปกป้องคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามกรอบการเจรจา WIPO IGC ขณะเดียวกัน จะร่วมกับ พณ. พัฒนาและเชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรม

“ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างกรอบยุทธศาสตร์แผนแม่บทส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ตามที่ คณะอนุกรรมการกำกับดูแลการจัดทำแผนแม่บทฯ ได้มีการประชุมและยกร่างเสร็จแล้ว ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.สร้างความตระหนักรู้ในคุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 2.สงวนรักษาและพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 3.เสริมสร้างเครือข่ายในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 4.พัฒนาองค์ความรู้และระบบฐานข้อมูลมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมให้เป็นมาตรฐานสากล และ5.พัฒนาศักยภาพองค์กรและการดำเนินงาน พร้อมกันนี้ ให้ปรับเปลี่ยนกรอบระยะเวลาในการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม จากเดิม พ.ศ. 2561-2564 เป็น พ.ศ. 2563 - 2569 เพื่อให้สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2565-2569 ด้วย”นายวีระ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น