xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.ประเมินผลการอ่านป.1 ทุกสังกัดภาพรวมดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สพฐ.พอใจผลการอ่านป.1 ภาพรวมดีขึ้น 70% สั่งโฟกัสเพิ่มกลุ่มร.ร.เล็ก พร้อมรวบรวมข้อมูลปัจจัยความสำเร็จ-อุปสรรค เพื่อถอดบทเรียน ส่งภายใน 1 เม.ย.ก่อนให้สถาบัดทดสอบทำการวิเคราะห์ หวังรวมข้อมูลไว้ใช้ในอนาคตและนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ คนใหม่

วันนี้ (26 มี.ค.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการประเมินความสามารถด้านการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ทุกสังกัด ได้แก่ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) โดยสถาบันทดสอบทางการศึกษา สพฐ.ดำเนินการ ภาพรวมได้ผลเป็นที่น่าพอใจได้กว่า 70% ทั้งนี้ ตนได้กำชับให้ไปโฟกัสเฉพาะกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็กด้วยโดยไปวิเคราะห์ผลการอ่าน รวมถึงคะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ปีการศึกษา 2561 ที่ผ่านมาเป็นเช่นไร โดยให้ตั้งคำถามถึงปัจจัยในความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค และถอดบทเรียนที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งโรงเรียนในสังกัด สพฐ.กว่า 30,000 โรงจะมีรูปแบบการจัดการที่ต่างกันไป เช่น ระดับมัธยมศึกษา บางโรงเรียนใช้หลักสูตรสากล โรงเรียนกลุ่มจุฬาภรณราชวิทยาลัย ก็มีรูปแบบอีกอย่างหนึ่ง หรือโรงเรียนที่อยู่ในภูมิภาคต่างๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่สูง ตั้งอยู่ในภาพใต้ ก็มีปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ต่างกัน เป็นต้น จากนั้นในวันที่ 1 เม.ย.ให้รายงานมาที่ตนและจะมอบให้สำนักทดสอบฯสพฐ. ไปวิเคราะห์รายละเอียดอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาคำตอบ

“งานทุกอย่างที่ทำสพฐ.ไม่ได้ตั้งเป้าแค่ได้ทำแล้ว หรือทำเสร็จแล้วเราต้องการผลลัพธ์ที่เกิดกับตัวนักเรียน ซึ่งถ้าพบว่าสิ่งที่ได้ทำด้วยงบประมาณของราชการปรากฎว่าไม่เกิดผลการเปลี่ยนแปลงเลยก็ต้องทบทวนจะทำต่อหรือไม่ หรือทำแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงก็ต้องทบทวนวิธีการ หรือวิธีที่ทำแต่ใช้งบฯมากอย่างการจัดการอบรม ซึ่งเสียค่าพาหนะการเดินทางตรงนี้ก็อาจจะต้องหาวิธีการใหม่ให้อบรมทางไกล เปลี่ยนที่จัดกิจกรรมในเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อครูไม่ต้องเดินทาง เป็นการสร้างความเข้มแข็ง เงินที่เหลือนำไปให้โรงเรียนไปซื้อสื่ออุปกรณ์เพื่อจัดการเรียนการสอนแก่เด็ก ผลวิเคราะห์เหล่านี้จะออกมาภายในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งต่อไปหาก รมว.ศึกษาธิการ ท่านใหม่หากต้องการอยากรู้ข้อมูล สพฐ.ก็พร้อมนำเสนอได้ ขณะเดียวกัน ข้อมูลนี้ยังสามารถใช้ตอบคำถามสังคมได้ โดยเฉพาะกับหน่วยงานที่ต้องการช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่นักเรียนสามารถโฟกัสการช่วยเหลือได้ตรงจุดว่าโรงเรียนยังต้องการสนับสนุนอะไร เชื่อว่าสิ้นปีการศึกษา 2561 สพฐ.จะใช้ประโยชน์จากการประเมินให้ได้มากที่สุด เพราะฉะนั้น ครั้งนี้จึงไม่ใช่ประเมินเพียงรู้ว่าได้คะแนนเท่าไหร่ แต่ประเมินเพื่ออนาคตที่ดีกว่า”ดร.บุญรักษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น