xs
xsm
sm
md
lg

ม.กรุงเทพ ถอดบทเรียน "ขุนเดช เดอะ มิวสิคัล" ปลุกปชช.ร่วมผลักดันเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ท่ามกลางกระแสสังคมที่ตั้งคำถามถึงคุณภาพสถาบันอุดมศึกษาไทยที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดงาน รวมถึงคุณภาพบัณฑิตที่ขาดทักษะและความรู้ที่เพียงพอต่อการประกอบวิชาชีพ ภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ไม่เพียงพิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์ชัดซึ่งคุณภาพ แต่ยังตอกย้ำบทบาทการสร้างมาตรฐานแนวทางวิชาชีพและการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศชาติด้วยศาสตร์การละคร

ขณะเดียวกันศิลปวัฒนธรรมถูกกล่าวถึงเสมอมาในฐานะเครื่องมือที่มีพลังอันสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของชาติ แต่เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย น่าเสียดายยิ่งนักที่วิธีการนำศิลปวัฒนธรรมไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมยังขาดความชัดเจนและไม่สามารถจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม
ภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในฐานะสถาบันการศึกษาและผู้พัฒนางานสร้างสรรค์จากศิลปวัฒนธรรมเล็งเห็นว่า สถาบันการศึกษาและภาคประชาชาชนควรมีส่วนร่วมขับเคลื่อนประเทศชาติ จึงได้ริเริ่มโครงการจัดสร้างละครโดยผสมผสานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเข้ากับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น บูรณาการกับทุกภาคส่วนทั้งองค์กรรัฐและเอกชนในพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งในชุมชนโดยศึกษาและพัฒนาผลงานสร้างสรรค์ซึ่งหลอมรวมกับศิลปะสมัยใหม่เข้ากับศิลปวัฒนธรรมอันเป็นวัตถุดิบของชุมชนนั้น และได้นำร่องด้วยการแสดงเรื่อง ขุนเดช เดอะมิวสิคัล ซึ่งจัดแสดง ณ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยเมื่อวันที่ 29-31 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จในหลากหลายมิติ และนับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่สถาบันการศึกษาได้ค้นคว้าพัฒนาและสร้างสรรค์การแสดงขนาดใหญ่ซึ่งมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งในระดับท้องถิ่น จึงสมควรถอดบทเรียนร่วมกับภาครัฐและเอกชน ต่อยอดสู่การพัฒนาในระดับมหภาคต่อไป

ผลจากการถอดบทเรียนโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมืออาชีพ (Professional-Based Learning) ทำให้เกิดการตั้งคำถามและบทสนทนาระหว่างนักศึกษาของภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อันเป็นการจุดประกายบทสนทนาต่อๆมาในมิติต่างๆกับภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขุนเดช เดอะ ความเปลี่ยนแปลงควรเริมจากพื้นฐานความเข้าใจ ศิลปะการแสดงของสุโขทัย - ศรีสัชนาลัย กำเนิดใหม่ในรัตนโกสินทร์ อนุรักษ์วัฒนธรรมอย่างไรให้เกิดคุณค่า วัฒนธรรมการถือผีที่ส่งผลต่อการครอบครองพื้นที่ ศิลปวัฒนธรรมไทยก้าวไกลด้วยการแสดง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความหวงแหนรายได้ของคนในพื้นที่ ศิลปะประจำชาติ vs ศิลปะประจำภาค แนวคิดเชิงอนุรักษ์ส่งผลต่อการส่งเสริมศิลปะการแสดงอย่างไร บทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมต่อการพัฒนาศิลปวัฒนธรรมของชาติ สุโขทัย พื้นที่แห่งการหลอมรวมอารยธรรม พฤติกรรมอันแตกต่างในการชมมหรสพ การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ถอดบทเรียนขุนเดช เดอะ มิวสิคัล และบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) ความเข้มแข็งจากชุมชนสู่ประเทศ

ผศ.พรรณศักดิ์ สุขี กล่าวว่า ภาควิชาศิลปะการแสดง คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ดำเนินการการจัดการเรียนการสอนโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบมืออาชีพ (Professional-Based Learning) มาอย่างต่อเนื่อง เราอยากสร้างสรรค์ และสรรค์สร้างให้นักศึกษาของเรา ซึ่งถือเป็นอนาคตของชาติได้รู้จักคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ นักศึกษาของเราเป็นคนฉลาด สร้างสรรค์ และมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ เพียงแต่เราก็ต้องช่วยกันผลักดัน และให้โอกาสเขาในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีที่สิ้นสุด การแสดงละครแต่ละเรื่องคือกระบวนการและการเปิดโอกาสให้นักศึกษาของเราได้ลงมือทำจริง เผชิญกับโลกความเป็นจริง กลับมาตั้งคำถามคิดต่อยอด เพื่อเป็นพลังสำคัญ ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ช่วยให้ศิลปวัฒนธรรมขับเคลื่อน และเข้มแข็งขึ้นทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม





กำลังโหลดความคิดเห็น