xs
xsm
sm
md
lg

คร.เผยวิกฤตฝุ่นเชียงใหม่ ทำเหนื่อยง่าย คันผิวหนัง เคืองตา แต่ตัวเลขคนเข้า รพ.ยังไม่มาก ต่ำกว่าปี 61

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมควบคุมโรค เผยวิกฤตฝุ่น จ.เชียงใหม่ ทำเหนื่อยง่าย คันผิวหนัง ระคายเคืองตามากขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นเข้า รพ. ส่วนตัวเลขผู้ป่วยเข้า รพ.ยังไม่มาก ต่ำกว่าปี 2561 และค่ามัธยฐาน 5 ปี คาดมาจากการป้องกันเตรียมตัวได้ดี ห่วงผลกระทบระยะยาว เหตุประเมินได้ยาก

วันนี้ (25 มี.ค.) นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) ให้สัมภาษณ์กรณีผลกระทบด้านสุขภาพจากปัญหาฝุ่นละออง โดยเฉพาะพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่คนในสังคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่าเป็นเมืองที่มีค่าฝุ่นละอองสูงที่สุดในโลก ว่า จากการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ค่า PM 2.5 ขึ้นสูงมาก โดยได้สอบถามคนในพื้นที่เรื่องความมัวในอากาศ หากวัดจากการมองเห็นดอยสุเทพ ซึ่งมองไม่เห็นเลยให้ค่าเท่ากับ 5+ คนในพื้นที่ให้ค่าที่ 3+ ตอนประมาณ 09.00-10.00 น. และ 2+ ช่วงประมาณ 13.00-14.00 น. ส่วนการเยี่ยมกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้สูงอายุ ในศูนย์พัฒนาสวัสดิการผู้สูงอายุ 2 แห่งในเขตเทศบาล ซึ่งมีประมาณ 100 กว่าคน พบว่า มีการเตรียมสถานที่ได้ดี มีการฉีดพ่นละอองน้ำตามอาคาร และติดตั้งเครื่องวัดค่าฝุ่นละออง 2-3 จุด มีการสวมหน้ากาก N95 ซึ่งได้รับการจัดสรรจากเทศบาล และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่

นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวว่า ผู้สูงอายุมีองค์ความรู้เรื่องฝุ่นละอองอย่างดี เพราะรู้เรื่องพวกนี้มาหลายปีแล้ว เช่น ผลกระทบสุขภาพคืออะไร ใครเป็นกลุ่มเสี่ยง เมื่อไรต้องสวมหน้ากากอนามัย สามารถป้องกันตนเองได้ระดับหนึ่ง ส่วนอาการเบื้องต้นที่เราติดตาม คือ ภาวะทางเดินหายใจ ผิวหนัง และการระคายเคืองตา ทุกคนมีความรู้สึกว่าเป็นบ่อย แต่ไม่ถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล เช่น คนเป็นโรคหอบ ถุงลมโป่งพอง บอกว่ารู้สึกเหนื่อยมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล คันผิวหนังบ่อยขึ้นทุกวัน แต่ไม่มีผลให้ผิวหนังเป็นผื่น คันระคายเคืองตามีบ่อยขึ้น เป็นต้น

นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนการเยี่ยม รพ.นครพิงค์ จ.เชียงใหม่ เพื่อดูการเคลื่อนที่ของจำนวนผู้ป่วย จากการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่มาห้องฉุกเฉิน ผู้ป่วยนอก คลินิกด้านโรคหัวใจ ทางเดินหายใจ ผิวหนัง และดวงตา ทุกสัปดาห์ตั้งแต่ต้นปี 2562 ปรากฏว่า จำนวนผู้ป่วยที่มา รพ.ขึ้นสูงตั้งแต่ต้น ม.ค. แต่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีของปี 2561 และต่ำกว่าปี 2561 ในช่วงสัปดาห์เดียวกัน อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นปีค่าฝุ่น PM 2.5 ยังไม่มี โดยพบว่าเป็นการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่เป็นหลัก และจากการติดตามในทุกสัปดาห์ พบว่า แนวโน้มของผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาข้อมูลช่วง มี.ค. ซึ่งค่าฝุ่นละอองขึ้นสูงแล้ว กลับพบว่า จำนวนผู้ป่วยลดลง และจำนวนน้อยกว่าปี 2561 ในช่วงเวลาเดียวกัน และค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี เช่น ในสัปดาห์ที่ 10 ผู้ป่วยโรคหัวใจทุกชนิด ปี 2561 มีประมาณ 20,000 คน ปี 2562 ประมาณ 10,000 คน ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจทุกชนิด ปี 2561 ประมาณ 18,000 คน ปี 2562 ประมาณ 11,000 คน โรคผิวหนังอักเสบ ปี 2561 ประมาณ 1,700 คน ปี 2562 ประมาณ 1,000 คน และโรคตาอักเสบ ปี 2561 ประมาณ 2,000 คน ปี 2562 ประมาณ 1,000 คน

"แม้ค่า PM 2.5 จะสูงขึ้น แต่ผลกระทบด้านสุขภาพที่ทำให้เข้าโรงพยาบาลมากขึ้นนั้น ยังไม่เห็นผล แต่ผลกระทบทำให้เกิดการระคายเคืองหรือมีอาการมีเยอะขึ้น แต่ไม่ถึงกับต้องเข้าโรงพยาบาล จากการสอบถามแพทย์ เช่น อายุรแพทย์โรคปอด ที่ดูแลเรื่องนี้มาหลายปี สิ่งที่คาดคือปี 2562 คนไข้ต้องเยอะขึ้น เพราะค่าฝุ่นสูงและนาน แต่พบว่าผู้ป่วยต่ำ ซึ่งประเมินว่า ชาวบ้านมีการเตรียมตัวมาอย่างดี เพราะรู้ว่ามีค่าฝุ่นสูงขึ้นแน่ๆ และมีข่าวฝุ่นใน กทม.นำมาก่อน ทำให้รับรู้และป้องกันตนเองได้ถูกต้องมากขึ้น จึงมองว่า ภาพรวมของการมีปัญหาผลกระทบสุขภาพประชาชน ระยะสั้นๆ ทำให้รู้สึกไม่สบาย ทั้งผิวหนัง ระบบหายใจ ยังเกิดขึ้นและเกิดจำนวนมาก แต่ยังไม่มีผลกระทบทำให้ต้องหยุดงานหรือเข้าโรงพยาบาลมากขึ้น แต่ห่วงว่าในระยะยาว เพราะค่าฝุ่นที่สูงในวันนี้ อาจมีผลในอีก 1 สัปดาห์ 2 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนก็ได้ ซึ่งการประเมินค่อนข้างยาก แต่หากจะให้แยกว่า สาเหตุเกิดจากฝุ่นหรือไม่ หรือไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นมาจากฝุ่นหรือไม่ ตรงนี้ต้องตามกันเป็นปีๆ อย่างน้อย 5 -10 ปี แต่ขณะนี้ยังไม่พบว่า มีโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่เปิดปัญหาฝุ่นแต่อย่างใด" นพ.ขจรศักดิ์ กล่าว

นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวว่า อยากสื่อว่า การป้องกันตนเองให้ดีที่สุดจะเป็นประโยชน์มาก โดยสิ่งที่อยากให้ดำเนินการ มี 3 อย่าง คือ 1.อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ให้ระดมเยี่ยมเยียนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เด็ก ผู้สูงอายุ โดยให้ความรู้ สนับสนุนหน้ากากอนามัย ยาทาแก้แพ้ผิวหนัง ยาหยอดตา 2.ให้หน่วยงานในพื้นที่ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เทศบาล ภาครัฐ โรงงาน สนับสนุนหน้ากากอนามัยแก่บุคคลพื้นที่ตนเอง เพื่อใช้อย่างถูกต้อง และ 3.แต่ละพื้นที่ ทั้งบริษัท โรงงาน โรงเรียน ซึ่งมีพื้นที่ที่หลากหลาย อยากให้จัดโซนสะอาดหรือห้องสะอาด เป็นบริเวณที่สามารถทำกิจกรรมได้ เมื่อค่าฝุ่นในพื้นที่ดังกล่าวต่ำ และปรับเปลี่ยนพื้นที่โซนสะอาดไปตามค่าฝุ่นที่เปลี่ยนไป

เมื่อถามถึงการแชร์ข้อมูลวิกฤตฝุ่นกระทบลูกชายวัย 4 ขวบเลือดกำเดาไหลไม่หยุด ใน จ.เชียงใหม่ จนต้องย้ายออกจากพื้นที่ นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวว่า หากมีภาวะหลอดลมอักเสบ โพรงจมูกอักเสบก็อาจทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลได้เช่นกัน แต่ก็จะเป็นความเสี่ยงเฉพาะบุคคล อย่างกลุ่มอาการแพ้ง่าย สิ่งสำคัญเราต้องช่วยกันทั้งเรื่องการป้องกันตนเอง และมาตรการแก้ปัญหาต้นเหตุด้วย เพราะในเรื่องสุขภาพก็ต้องระวังผลกระทบระยะยาว เนื่องจากฝุ่น PM 2.5 กระตุ้นให้เกิดมะเร็ง และภูมิคุ้มกันลดลง ปอดอักเสบ เส้นเลือดหัวใจตีบตัน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น