xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ยูเออี จ่อลงนามความร่วมมือด้านวัฒนธรรมหลังปรับร่างข้อตกลงใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ไทย-ยูเออี จ่อลงนามความร่วมมือด้านวัฒนธรรม หลังปรับร่างข้อตกลงใหม่ รมว.วธ. ชี้ช่วยไทยเผยแพร่วัฒนธรรมในยูเออีง่ายขึ้น หวังตีตลาดผ้าไทยแดนอาหรับ พ่วงดึงเทคนิคบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ลูฟร์อาบูดาบี ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ มาใช้ในพิพิธภัณฑ์ไทย

เมื่อวันที่ 21 มี.ค. เมื่อเวลา 13.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่บริเวณรับรองชั้น 1 กระทรวงวัฒนธรรมและการพัฒนาความรู้แห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้หารือร่วมกับ H.E. Noura Al Kaabi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการพัฒนาความรู้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ถึงการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านวัฒนธรรมระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เนื่องจากทางกระทรวงวัฒนธรรมฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความประสงค์จะขอปรับเปลี่ยนร่างความร่วมมือ

นายวีระ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือ ว่า วันนี้เป็นการหารือในระดับทวิภาคีของไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งสิ่งที่ทางกระทรวงวัฒนธรรมฯ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) อยากจะปรับ คือ เรื่องของการทำงานในกรอบของยูเนสโก ซึ่งเป็นระดับของพหุภาคี ซึ่งเราไม่น่าจะทำเรื่องนี้ เพราะการทำความร่วมมือเป็นระดับทวิภาคีระหว่าง 2 ประเทศ และอีกเรื่องคือลิขสิทธิ แต่เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในภารกิจของ วธ. ดังนั้น อาจต้องเจรจาบางรายการที่ยูเออีเสนอมาว่า อะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้ แต่ในภาพรวมคิดว่าน่าจะปรับได้ และทาง รมว.วธ.ยูเออี ก็จะเดินทางมาลงนามที่ประเทศไทยต่อไป ซึ่ง วธ.ไทยและยูเออี เห็นพ้องต้องกันว่า ต้องลงนามความร่วมมือทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เรามีอะไรที่สนับสนุนซึ่งกันและกันได้

นายวีระ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ หากมีการลงนามความร่วมมือด้านวัฒนธรรมกับยูเออี คือ 1.เป็นเรื่องง่ายและมีความสะดวกในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยในยูเออีได้เต็มที่ ซึ่งหลักที่ไทยอยากจะเผยแพร่ คือ เรื่องอาหารไทย การแสดงวัฒนธรรมไทย และผ้าไทย ซึ่งไทยมีการศักยภาพในการผลิตผ้าไหม ผ้าฝ้าย ผ้าพื้นเมือง โดยเฉพาะผ้าทอมือที่ วธ.สนับสนุน น่าจะสามารถมาตีตลาดที่นี่ได้ 2.สามารถนำเทคโนโลยีใหม่ของยูเออี ในการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ เช่น พิพิธภัณฑ์ลูฟร์แห่งอาบูดาบี ซึ่งยูเออีได้เทคนิคการบริหารจัดการของฝรั่งเศสมา ก็น่าจะทันสมัยมาก รวมถึงห้องสมุดกับหอจดหมายเหตุ เป็นอะไรที่น่าจะเหมาะกับไทย ก็จะนำส่วนที่เขาพัฒนามาปรับใช้ในพิพิธภัณฑ์บ้านเรา รวมถึงการแลกเปลี่ยนทางด้านวิชาการ

"วธ.ต้องการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปครอบคลุมทั่วทุกทวีป ทุกพื้นที่ที่คิดว่าจะมีประโยชน์ในด้านความร่วมมือด้านอื่นๆ ต่อไป ซึ่งการที่มีความร่วมมือด้านวัฒนธรรมจะส่งผลต่อความร่วมมือด้านอื่นๆ ด้วย อย่างประเทศตะวันออกกลางเป็นประเทศสำคัญ เพราะร่ำรวย มีรายได้จากการส่งออกน้ำมันมาก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวมาเยือนไทยจำนวนมาก โดยไทยเป็นจุดหมายปลายของนักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันออกกลาง โดยเฉพาะยูเออี ซึ่งมี 7 รัฐ และมีประชากรเพียง 1 ล้านคน โดยจำนวนนี้มาเที่ยวเมืองไทยถึง 1.2 แสนคน หรือประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ มีสายการบินที่บินตรงกรุงเทพฯ และภูเก็ต ทั้งสายการบินไทย และสายการบินของเอมิเรตส์ 2 สายหลัก ขณะที่ไทยนำเข้าน้ำมันจากยูเออีเป้นลำดับต้นๆ" รมว.วธ. กล่าวและว่า นอกจากนี้ การเดินทางมาในครั้งนี้ วธ.ยังร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศร่วมจัดเทศกาลไทยใน 3 ประเทศ คือ บาห์เรน คูเวต และยูเออี คิดว่ากิจกรรมที่ทำ จะทำให้วัฒนธรรมไทยเผยแพร่สู่ตะวันออกกลางได้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

นายวีระ กล่าวว่า นอกจากยูเออีแล้ว วธ.ภายใต้รัฐบาลชุดนี้ ยังทำความร่วมมือด้านวัฒนธรรมกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะอเมริกาใต้ คือ ความร่วมมือกับประเทศเปรู โดยเปรูจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางเผยแพร่วัฒนธรรมของเปรูในเอเชีย และเปรูจะรับเป็นศูนย์กลางให้ไทยไปเผยแพร่วัฒนธรรมในอเมริกาใต้ ส่วนในเอเชียเรามีกรอบความร่วมมือใกล้ชิดอยู่แล้ว มีการประชุมร่วมระดับวัฒนธรรมเอเชียยุโรปปีเว้นปี เมื่อมีประเด็นจะขอความร่วมมือก็ขอไปประชุมย่อยร่วมกับรัฐมนตรี วธ.ประเทศนั้นๆ ได้อยู่แล้ว และระดับอาเซียนก็มีความร่วมมือ กรอบความร่วมมือด้านวัฒนธรรมของอาเซียน มีประชุม รมว.วธ.อาเซียนปีเว้นปี และปีที่แล้วไทยเสนอให้ปี 2562 ซึ่งไทยเป็นประธานอาเซียน เป็นปีวัฒนธรรมอาเซียน กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง วธ.ก็ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง เช่น อียิปต์ ตุรกี อาเซอร์ไบจาน เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น