xs
xsm
sm
md
lg

เห็นชอบฉลากทั่วไป “กัญชา” กำหนดข้อห้าม ข้อควรระวัง ข้อบ่งใช้ เบื้องต้น 4 กลุ่มโรค เปิดกว้างโรคน่าจะมีประโยชน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คณะอนุฯ เห็นชอบทำ “ฉลากทั่วไป” ผลิตภัณฑ์กัญชา กำหนดข้อห้าม ข้อควรระวัง พร้อมข้อบ่งชี้ในการใช้ เบื้องต้นใช้ใน 4 กลุ่มโรคชัดเจน พร้อมเปิดกว้างกลุ่มโรคน่าจะมีประโยชน์ มอบกรมการแพทย์กำหนดโรค เผยผู้ป่วยต้องขึ้นทะเบียน อนาคตจ่อออกฉลากเฉพาะ หากสัดส่วนทีเอชซี ซีบีดีชัดเจน

วันนี้ (1 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ชาตรี บานชื่น ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาผลิตภัณฑ์ยาเสพติดให้โทษที่มีกัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย ซึ่งใช้เวลาการประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมง

นพ.ชาตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า วันนี้ถือเป็นการประชุมครั้งแรกของคณะอนุกรรมการฯ โดยได้พิจารณาเรื่องของมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาหรือสารสกัดจากกัญชา การอนุญาตและกำกับการใช้ทางการแพทย์และการวิจัย ซึ่งที่ประชุมได้เห็นชอบ 1 ประเด็น คือ เรื่องของฉลากทั่วไปผลิตภัณฑ์กัญชาโดยทั่วไป คือ ฉลากจะต้องมีการกำหนดข้อควรระวัง ข้อบ่งชี้ในการใช้ มีผลข้างเคียงอะไร ห้ามใช้ในอายุเท่าไร เช่น หญิงตั้งครรภ์ ในผู้ป่วยคนอายุน้อย หรือข้อควรระวังในบางโรค เช่น โรคจิตเวชบางโรค เป็นต้น ส่วนข้อบ่งชี้ในการใช้ก็คงตามแนวทาง คือ กลุ่มโรคที่ชัดเจนแล้วมีอยู่ 4 โรค คือ ผลข้างเคียงจากการรับยาเคมีบำบัด โรคลมชักในเด็ก ปลอกประสาทอักเสบ และอาการปวดเรื้อรังรุนแรง

นพ.ชาตรี กล่าวว่า อีกส่วนที่ใช้ได้คือ กลุ่มโรคที่น่าจะมีประโยชน์ ซึ่งจะทำให้เปิดกว้างมากขึ้น โดยผู้ป่วยที่จะใช้ก็ต้องมาขึ้นทะเบียนเฉพาะราย โดยจะต้องใช้ภายใต้การตกลงร่วมกันระหว่างผู้ใช้กับแพทย์ ที่ต้องผ่านการอบรมและขึ้นทะเบียน และสถานพยาบาลต้องรับรอง โดย อย.ได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ไปกำหนดโรคในกลุ่มที่น่าจะมีประโยชน์มีอะไรบ้าง เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์ โดยจะต้องมีรายงานผลการใช้ ผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเป็นความรู้ที่จะไปพัฒนาต่อ ถ้าได้ผลดีก็อาจเข้ามาอยู่ในกลุ่มโรคข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน

นพ.ชาตรี กล่าวว่า หลังจากนี้ จะเสนอเรื่องดังกล่าวไปยังคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 8 มี.ค. 2562 ส่วนการเริ่มใช้ฉลากผลิตภัณฑ์กัญชา คงต้องรอการออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องให้เรียบร้อยก่อน โดยอาจมีการออกมาเป็นไกด์ไลน์ให้เข้าใจชัดเจนในเรื่องของการทำฉลาก ส่วนในอนาคตผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีส่วนผสมชัดเจนว่า มีซีบีดี ทีเอชซีเท่าไร ก็จะออกฉลากผลิตภัณฑ์เฉพาะอีก เพราะผลของทีเอชซี และซีบีดีต่างกัน ผลข้างเคียงก็อาจต่างกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น