xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์หวั่นมีผู้ป่วยวัณโรคพุ่ง จี้สาธารณสุขไทยแก้ปัญหาด่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แพทย์จี้สาธารณสุขไทยเร่งแก้วัณโรค องค์การอนามัยโลกระบุไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศ ที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง โดยมีคนไทยป่วยเป็นวัณโรครายใหม่ปีละ 1.2 แสนคน รัฐควักค่ารักษา 434 ล้านบาทต่อปี ส่วนฝุ่นละออง PM 2.5 แนะหมั่นตรวจสภาพอากาศ หวั่นสูดยาวนานเสี่ยงมะเร็งปอด

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย จัดแถลงข่าวเรื่อง “ปัญหา ความท้าท้ายสาธารณสุขไทย : วัณโรค ฝุ่นละออง PM 2.5 โดย ศ.นพ.สมชาย เอี่ยมอ่อง ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า วัณโรคและฝุ่นละออง PM 2.5 กำลังเป็นเรื่องท้าท้ายให้สาธารณสุขเข้ามาแก้ปัญหา อีกทั้งประชาชนทั้งประเทศยังไม่ทราบว่า วัณโรคยังเป็นปัญหาในระดับชาติ และยังมีผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในช่วงนี้ประเทศไทยเกิดปัญหาฝุ่นละอองที่เรียกว่า PM 2.5 ซึ่งส่งผลกระทบกับปอดโดยตรง เมื่อสูดผ่านรวมเข้าไปกับลมหายใจ สามารถผ่านลึกจนถึงถุงลมที่เป็นส่วนปลายสุดของปอด ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อหลอดลมฝอยและถุงลม และเล็ดลอดผ่านผนังถุงลม แล้วไชชอนผ่านเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสโลหิต และกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ และมีโอกาสสุ่มเสี่ยงเป็นโรคร้าย

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่รู้ถึงอันตรายของโรคไข้หวัดใหญ่ แต่น้อยคนรู้จะรู้ว่าคนไทยป่วยเป็นวัณโรครายใหม่ปีละ 1.2 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนาน 4,500 คน และเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมากปีละ 400 คน คนไทยตายจากวัณโรคปีละ 14,000 คน เทียบกับไข้หวัดใหญ่แต่ละปีตายไม่กี่สิบคน ในปี 2558 องค์การอนามัยโลกจัดให้ ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง ประเทศไทยได้บรรจุปัญหาวัณโรคเป็นวาระสำคัญระดับชาติในปี 2560 ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติปี 2560-2564 และกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมากเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในปี 2561 ถ้าผู้ป่วยปฏิเสธการรักษาจะถูกกักบริเวณเพื่อไม่ให้แพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่น

ซึ่งวัณโรคสามารถติดต่อทางการหายใจ เมื่อผู้ป่วยวัณโรคพูด ไอ หรือจาม เชื้อวัณโรคจะลอยออกมาในอากาศ เชื้อวัณโรคมีขนาดเล็กมากเหมือนฝุ่น PM 2.5 สามารถเข้าสู่ถุงลม ผ่านเข้าหลอดเลือดกระจายไปตามอวัยวะต่างๆ วัณโรคจึงเป็นได้ทุกอวัยวะยกเว้นเส้นผมและเล็บ แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นที่ปอด วัณโรคติดต่อกันง่ายมากไม่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค การหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนเชื้อในบ้าน ที่ทำงาน ห้างสรรพสินค้า รถแท็กซี่ รถตู้ รถโดยสารสาธารณะ รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน โรงภาพยนตร์ เรือนจำ และโรงพยาบาล ที่น่ากลัวที่สุด คือการอยู่ในเรือนจำ ที่เสี่ยงได้รับเชื้อวัณโรคมากที่สุด อัตราการติดเชื้อป่วยเป็นวัณโรคในเรือนจำจึงมีความเสี่ยงสูงกว่าด้านนอกถึง 8 เท่า ซึ่งหลังออกจากเรือนจำก็มีสิทธิ์ที่จะนำเชื้อไปแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้ ดังนั้น ต้องมีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อและมีห้องแยกในโรงพยาบาล

“ผู้ป่วยวัณโรคในระยะแพร่เชื้อต้องใส่หน้ากากอนามัยเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น ถือเป็นความรับผิดชอบต่อสังคม คนที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องใส่หน้ากาก N 95 เพื่อป้องกันการรับเชื้อ ต้องควบคุมการแพร่กระจายเชื้อในบ้าน ชุมชนและสถานพยาบาล ถ้าอยู่ที่บ้านควรเปิดประตูหน้าต่างให้ลมพัดเอาเชื้อโรคออกนอกบ้าน เพื่อให้รังสียูวีในแสงแดดฆ่าเชื้อโรค” นพ.มนูญ กล่าว

ในปัจจุบันแพทย์ต้องส่งตรวจยืนยันว่าผู้ป่วยเป็นวัณโรคและทดสอบความไวของเชื้อวัณโรคต่อยาทุกราย เพื่อให้การรักษาวัณโรคดื้อยาได้ถูกต้อง แพทย์สามารถเข้าถึงการวินิจฉัยที่รวดเร็วด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ การตรวจหายีนดื้อยาโดยวิธีอณูชีววิทยา ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องรีบอนุมัติยารักษาวัณโรคดื้อยาชนิดรุนแรงมากขนานใหม่ๆ เข้าประเทศไทยให้เร็วที่สุดเพื่อให้แพทย์นำไปใช้รักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา และภาครัฐต้องสนับสนุนงบประมาณสำหรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการและค่ายารักษาให้มากขึ้น

สำหรับค่ายารักษาผู้ป่วยวัณโรคที่ไม่ดื้อยา 3 พันบาท/คน ถ้าดื้อยาหลายขนาดเพิ่มเป็น 2 แสนบาท/คน และถ้าดื้อยาหลายขนาดชนิดรุนแรงมากเพิ่มอีกเป็น 1.2 ล้านบาท/คน ดังนั้นประมาณการเฉพาะค่ายารักษาผู้ป่วยวัณโรคของทั้งประเทศจะเท่ากับ 360+900+480=1,740 ล้านบาท สำหรับการรักษาผู้ป่วยทั้งสามกลุ่ม ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานมีโอกาสรักษาสำเร็จร้อยละ 75 ในขณะที่ผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมากมีโอกาสรักษาสำเร็จเพียงร้อยละ 50 แต่สำนักงานประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสปสช.ได้จัดสรรงบประมาณในปี 2560 สำหรับดูแลรักษาวัณโรคทั้งประเทศ 434 ล้านบาทต่อปี ไม่เพียงพอสำหรับรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาแน่นอน การลดอุบัติการณ์ผู้ป่วยวัณโรคไทย 172 ต่อแสนประชากรให้เหลือเพียง 10 ต่อแสนประชากรต่อปีในปี พ.ศ. 2578 ตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลกเป็นเรื่องที่ท้าทาย และคงจะทำได้ยาก

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์และคณะทำงานฝ่ายเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า PM 2.5 คือ อนุภาคขนาดเล็กที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร แขวนลอยอยู่ในอากาศรวมกับไอน้ำ ควัน และก๊าซ สามารถนำพาสารต่างๆ ล่องลอยอยู่รอบตัวเราได้ในปริมาณสูง ทำให้เกิดเป็นหมอกควันที่ถือเป็นมลพิษต่อสุขภาพของมนุษย์ คนทั่วไปที่สูดเอาฝุ่น PM 2.5 เข้าไป จะมีอาการระคายเคืองจมูก น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ แต่สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบการหายใจ รวมถึงผู้ที่ป่วยเป็นโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด จะทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบขึ้นมาได้ ส่วนในระยะยาวอาจก่อมะเร็งปอดและทำให้สมรรถภาพปอดของเยาวชนถดถอย

อย่างไรก็ตาม ในระยะนี้ทุกคนต้องหมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศเมื่อไหร่ก็ตามที่ดัชนีคุณภาพอากาศเป็นสีส้ม ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้มีโรคเรื้อรังข้างต้น เด็ก ผู้สูงอายุ และ สตรีมีครรภ์ ควรงดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่ถ้าเป็นสีแดง ขอให้ทุกคนทั้งหมดหลีกเลี่ยง กรณีคนที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงแล้วหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องใช้หน้ากาก N 95 หรืออย่างน้อยเป็นหน้ากากอนามัยซ้อนกัน 2 ชั้น โดยไม่ว่าจะใช้หน้ากากชนิดใดต้องสวมใส่ให้กระชับใบหน้า และจำกัดระยะเวลาการสัมผัสฝุ่นให้น้อยที่สุด

เมื่อถามว่า แพทย์แนะให้ครอบครัวที่มีผู้ป่วยวัณโรคเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศ ขณะที่เกิดปัญหาฝุ่นละอองแพทย์แนะให้ปิดประตูหน้าต่าง ซึ่งสวนทางกัน นพ.มนูญ กล่าวว่า แนะให้ผู้ป่วยใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันกระจายเชื้อสู่ผู้อื่น สำหรับสมาชิกในครอบครัวให้หน้ากาก N 95 และหากวันไหนอากาศเปิดให้เปิดประตูหน้าต่าง ซึ่งปัญหาฝุ่นละอองช่วงนี้ดีขึ้น สิ่งที่ห่วงคือวัณโรคที่กระทรวงสาธารณสุขจะต้องเร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน เพราะเป็นปัญหาระดับชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น