xs
xsm
sm
md
lg

“บุญรักษ์” กำชับ ผอ.ร.ร.มั่นใจใช้อำนาจสั่งปิดเรียน หากค่าฝุ่นสูง-ขอรับบริจาคหน้ากากอนามัยให้เด็ก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“บุญรักษ์” กำชับ ผอ.โรงเรียน มั่นใจใช้ภาวะผู้นำตัดสินใจประกาศปิดเรียน หากพบปัญหาฝุ่นรุนแรง มอบ ร.ร. สำรวจยานพาหนะผู้ปกครอง-เก็บสถิติค่ามลพิษใน 4 ช่วงเวลา ทำแผนแก้ปัญหาระยะยาว และสำรวจสุขภาพเด็กกลุ่มเสี่ยงดูแลใกล้ชิด พร้อมเปิดขอรับบริจาคหน้ากากอนามัยให้เด็กนักเรียน

วันนี้ (31 ม.ค.) ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) พื้นที่กรุงเทพมหานครและในเขตปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ว่า ภาพรวมพบว่า มีโรงเรียนในความดูแล 1,075 โรงเรียน ปิดเรียน 641 โรง คิดเป็น 59.6% นักเรียนที่ได้รับผลกระทบ 450,706 คน โรงเรียนใน กทม. ประกาศปิดเรียน 100% และมีบางโรงเรียนที่เปิดสอนเฉพาะในระดับชั้นที่ต้องมีการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-Net) ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และ ม.6 ทั้งนี้ การประกาศปิดเรียนถือเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ระยะยาวต้องวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยได้มอบหมายให้โรงเรียนไปสำรวจยานพาหนะที่ผู้ปกครองใช้ส่งนักเรียนว่ามีอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร และเก็บข้อมูลค่ามลพิษในจุดที่โรงเรียนตั้งใน 4 ช่วงเวลา คือ เช้า สาย บ่าย และ เย็น เพื่อดูว่าช่วงเวลาใดที่ค่ามลพิษเพิ่มขึ้น หรือ ลดลง เพื่อนำข้อมูลมาหารือร่วมกับคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง กำหนดมาตรการแก้ไข โดยอาศัยความร่วมมือ เพราะ สพฐ. ไม่มีอำนาจไปสั่งการได้ ให้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างวัฒนธรรมการดูคุณภาพชีวิต และ สภาแวดล้อมใหม่อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้โรงเรียนสำรวจและเก็บข้อมูลเด็กที่มีภาวะเสี่ยง หรือมีโรคประจำตัวที่แพ้ฝุ่นได้ง่าย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และต้องดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงให้ปรึกษาแพทย์ในการเตรียมอุปกรณ์เพื่อช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน เช่น ออกซิเจน ซึ่ง สพฐ. อาจจะสนับสนุนอุปกรณ์บางอย่างแก่โรงเรียนที่ขาดแคลนด้วย ขณะเดียวกัน ได้มีข้อเสนอการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้น และ ระยะยาว เช่น รณรงค์ปลูกต้นไม้ที่ช่วยซึมซับมลพิษ การลดใช้ยานพาหนะ รวมถึงการดูแลรักษายานพาหนะ สำหรับโรงเรียนที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ให้เจรจาขอหยุดการก่อสร้าง แต่หากไม่สามารถหยุดการก่อสร้าง ให้ขอความร่วมมือผู้รับเหมาให้ล้างฝุ่นทุกวัน

ผมขอฝากถึงผู้อำนวยการโรงเรียนทุกแห่งให้มั่นใจ และใช้ภาวะผู้นำที่มีในการตัดสินใจและสั่งการได้ทันที หากเห็นว่าอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงก็ตัดสินใจ ไม่ต้องรอคำสั่งจากส่วนกลาง โดย ผอ.โรงเรียน มีอำนาจสั่งปิดได้ 7 วัน ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ปิดเรียน โรงเรียนสามารถจัดสอน หรือให้เด็กเรียนรู้เพิ่มเติมจากหลายช่องทาง ทั้ง DLTV หรือ ติวฟรีดอทคอม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เวลานี้สิ่งที่โรงเรียนต้องการ คือ หน้ากากอนามัย ซึ่ง สพฐ. คงมีงบประมาณไม่เพียงพอในการจัดซื้อให้ทุก ดังนั้น สพฐ. จะรณรงค์ขอรับบริจาคหน้ากากอนามัยให้แก่นักเรียน โดยขอเชิญชวนให้ภาคเอกชน หรือผู้ประสงค์จะบริจาคสามารถติดต่อประสานไปยังโรงเรียนโดยตรง หรือ ประสานผ่านเขตพื้นที่การศึกษา และ สพฐ.” ดร.บุญรักษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น