xs
xsm
sm
md
lg

ชวนสร้างห้องเรียนให้เด็กในยุคฝุ่นพิษ/ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ท่ามกลางกระแสฝุ่นพิษเต็มเมือง มีการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่าง ๆ นานา แต่มีข้อดีที่ชัดเจนอยู่ข้อหนึ่งคือสังคมตื่นตัว ประชาชนหันมาให้ความสนใจเรื่องมลพิษในอากาศอย่างจริงจัง และติดตามอย่างใกล้ชิด ชนิดที่บางทีต้องกรองข้อมูลก่อนด้วยว่าข้อมูลหรือข่าวในแต่ละชิ้นมีที่มาที่ไปหรือไม่ เป็นข้อมูลเก่าหรือถูกต้องหรือไม่
ยิ่งมีแอพลิเคชั่นให้ผู้คนได้มีโอกาสเข้าไปเช็คสภาพอากาศกันได้เท่าที่อยากเช็ค ก็ยิ่งทำให้เกิดความสะดวก และตระหนักมากขึ้นว่าเรื่องฝุ่นมลพิษมองไม่เห็น แต่มันมีอยู่จริง และเป็นพิษต่อสุขภาพร่างกายจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้า PM 2.5
ในส่วนของภาคพลเมือง ผู้คนตระหนักรู้มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการเตรียมการในเรื่องการดูแลตัวเองเบื้องต้น ทั้งเรื่องการหลีกเลี่ยงไม่อยู่กลางแจ้ง และเมื่อต้องเดินทางก็จะใช้หน้ากากอนามัย ซึ่งก็ทำให้รู้จักหน้ากากอนามัยที่มีอยู่หลายแบบ และแบบไหนใช้กับสถานการณ์ไหน รวมถึงวิธีใส่อย่างไรให้ถูกต้อง
เป็นภาพสวยงามที่สังคมเริ่มตระหนักรู้ แต่ดูเหมือนภาครัฐเองที่ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ปัญหาแบบองค์รวมเป็นรูปธรรมและชัดเจน มีที่เห็นอยู่ทุกวันนี้ก็คงเป็นการฉีดน้ำ เพื่อหวังลดฝุ่นลงในพื้นที่วิกฤติ
อย่างไรก็ตาม นับจากนี้ไป เราคงต้องเจอปัญหาเยี่ยงนี้ในทุกปี เพราะถ้าไม่มีการจัดการที่ดี เราคงต้องเผชิญปัญหานี้แบบแสนสาหัสกันทีเดียว
ที่ดิฉันสนใจเป็นพิเศษเห็นจะเป็นกลุ่มเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด ที่ดูเหมือนยังถูกละเลย และไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควร ยังเป็นพียงมาตรการให้โรงเรียนจัดการปัญหากันเอาเอง และเน้นไม่ให้เด็กอยู่นอกอาคาร ซึ่งก็เป็นเรื่องของแต่ละโรงเรียนด้วย ถ้าลักษณะอาคารของโรงเรียนเอื้อให้เด็ก ๆ อยู่อย่างปลอดภัย ก็นับว่าโชคดีไป แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่ลักษณะอาคารจะเอื้อ
และอย่าลืมว่าเด็กเล็กก็ยังมีลักษณะของการชอบวิ่งเล่น แม้พ่อแม่ผู้ปกครองหรือคุณครูจะป่าวประกาศให้เด็กใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อยู่นอกอาคาร แต่ลักษณะของเด็กจะทำได้ตลอดจริงหรือ
ดิฉันเองเป็นคนที่ไวต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายมาก และก็สามารถรับสัมผัสฝุ่นพิษครั้งนี้ทั้งการหายใจ ดวงตา ผิวหนัง ซึ่งพบว่าช่วงสองสามวันที่ผ่านมามันหนักหน่วงทีเดียว แม้จะอยู่ในอาคาร แต่ก็รับรู้ได้ว่าอากาศที่หายใจเข้าไปมีปัญหา
ทำให้คิดถึงว่าแล้วเด็กล่ะ?
ยิ่งเห็นข้อมูลมากมายที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก อย่างเช่น องค์การอนามัยโลกประมาณการว่ามีประชากรที่ต้อง “ตายก่อนวัยอันควร” เนื่องจากมลพิษในอากาศทั่วโลกมากกว่า 6 ล้านคนในแต่ละปี และในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5-6 ปี ราวร้อยละ10 คือประมาณ 600,000 คน เมื่อคุณภาพอากาศแย่ลง อัตราการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจะสูงขึ้น เพราะมลพิษทำให้ปัญหาสุขภาพที่มีอยู่กำเริบ และเป็นเหตุให้หัวใจวาย หลอดเลือดในสมองตีบ หอบหืดกำเริบ และอื่นๆ อีกมากมาย
และเด็กอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
ส่วนใหญ่แล้วเด็กมักใช้เวลาอยู่กลางแจ้งเพื่อเล่นกีฬาและทำกิจกรรมนอกบ้าน ยิ่งอายุน้อยเท่าไร ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ปอดและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา การเผชิญกับมลพิษในอากาศจะขัดขวางการเจริญเติบโตของปอดในเด็กวัยเรียน นอกจากนั้น เด็กยังมีอัตราที่จะเป็นโรคหอบหืดและโรคระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงอื่นๆ มากกว่า ซึ่งโรคเหล่านี้กำเริบขึ้นได้อย่างง่ายดายเมื่อระดับมลพิษสูง
สอดคล้องกับข้อมูลการแถลงข่าวจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เรื่อง "มาตรการการดูแลสุขภาพและการจัดการที่ประชาชนสามารถดำเนินการได้เกี่ยวกับฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5” โดยรศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและ วัณโรคภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจเรื่อง ฝุ่น PM 2.5 กระทบสุขภาพ 2 ส่วน คือ
1. ผลเฉียบพลัน สามารถเกิดกับทุกคนได้ ขึ้นกับความเข้มข้นของมลพิษ จะมีอาการแสบตา แสบจมูก ระคายคอ มีเสมหะได้ ส่วนคนป่วยโรคเรื้อรัง ปอดเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง จมูกภูมิแพ้ ไซนัส ทำให้มีอาการมากขึ้น
2. ผลระยะยาว มีคนกลุ่มหนึ่งที่เรามักลืมนึกถึง คือ กลุ่มเด็ก ซึ่งหมายรวมไปถึงคนอายุ 20 ปี เนื่องจากคนเราเกิดมามีถุงลมจำนวน 25 ล้านใบ พออายุ 10 ขวบจะพัฒนาเพิ่มเป็น 8 เท่า หรือ 300 ล้านใบ และปอดจะขยายตัวเต็มที่ที่อายุ 20 ปี จนเต็มประสิทธิภาพและค่อยลดลงไปตามอายุ ซึ่งฝุ่น PM2.5 ทำให้เกิดการระคายเคืองของปอดไม่ต่างจากควันบุหรี่
"ผลที่พบ คือ สมรรถภาพปอดของเด็กที่อยู่ในย่านที่มีฝุ่น PM 2.5 จะถดถอยกว่าเด็กในวัยเดียวกันที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีฝุ่นหรือฝุ่นน้อย ถ้าประชากรต้องอยู่ภายใต้ฝุ่นเช่นนี้หลายๆ ปี สมรรถภาพปอดที่อายุ 20 ปีจะเป็นจุดสูงสุดก็จะไม่ได้ และสมรรถภาพปอดจะลดลงเร็วกว่าเด็กที่ไม่สัมผัสฝุ่น ซึ่งในอายุ 40-50 ปี สมรรถภาพปอดอาจถดถอยเหมือนคนเป็นโรคถุงลมโป่งพองในคนสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการระคายเคืองของเซลล์ในปอดตลอดเวลา จึงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดได้เหมือนกับบุหรี่ในเวลา 10-20 ปีข้างหน้า"
ยังไม่นับการเดินทางของเด็กนักเรียนเพื่อไปโรงเรียน เราต้องยอมรับว่าเด็กนักเรียนทุกคนไม่ได้นั่งรถยนต์ของพ่อแม่ที่ขับรถไปส่ง แต่เด็กจำนวนมากต้องเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชน บางคนซ้อนมอเตอร์ไซต์ บางคนเดิน บางคนนั่งเรือ ฯลฯ และแน่นอนว่าต้องเผชิญกับฝุ่นพิษแน่นอน
บทความสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันนำเสนอให้ภาครัฐประกาศหยุดโรงเรียนในเขตกทม.และจังหวัดที่เกิดวิกฤติเป็นเวลา 1 สัปดาห์ หรือเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น เพราะสุขภาพของเด็กต้องสำคัญที่สุด และเมื่อเด็กหยุดโรงเรียน ปริมาณของรถยนต์บนท้องถนนก็จะหายไปโดยอัตโนมัติ เหมือนช่วงปิดเทอม และก็สามารถลดควันบนท้องถนนได้ทันที
แต่เรื่องนี้ยังต้องถกเถียงกันอีกนาน เพราะพ่อแม่จำนวนไม่น้อยยังเห็นต่างกันในหลายประเด็น อยู่ที่ว่าจะมองและตั้งโจทย์จากตรงไหน
พ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่เป็นกังวลกลัวลูกจะเรียนไม่ทัน อีกไม่นานก็จะสอบแล้ว ความวิตกกังวลเรื่องเรียนวิชาการก็เลยมาก่อน บางคนเป็นห่วงเรื่องถ้าโรงเรียนหยุดแล้วไม่มีใครดูแลลูก เพราะต้องไปทำงาน และอื่นๆ อีกมากมาย
เอาเป็นว่าเรามาร่วมกันหาทางออกเพื่อให้เด็กไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของฝุ่นมลพิษที่ว่ากันดีกว่า ถ้ากรณีที่ยังไปโรงเรียนตามปกติ ก็เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ต้องสอนและพูดด้วยความซีเรียสกับเด็กในการใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่อยู่นอกอาคาร ทางโรงเรียนก็ต้องลดกิจกรรมนอกห้องเรียน ไม่ต้องเข้าแถวหน้าเสาธง และงดวิชาที่ต้องเรียนนอกอาคาร ฯลฯ
ภายในอาคารเรียนก็ต้องปิดหน้าต่างให้หมดในช่วงมลพิษสูง ถ้ามีเครื่องปรับอากาศให้ใช้อากาศภายในอาคารหมุนเวียนแทนที่จะดึงเอาอากาศภายนอกเข้ามา
แต่ถ้าเป็นกรณีที่ประกาศหยุดโรงเรียน ดิฉันจะชวนสร้างห้องเรียนให้เด็กในยุคฝุ่นพิษ
ประการแรก – สร้างความร่วมมือระหว่างพ่อแม่ เพราะนี่เป็นปัญหาร่วมของสังคม มิใช่เป็นปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง การแก้ปัญหาต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนหาทางออกร่วมกัน บ้านไหนมีผู้ใหญ่พร้อมก็อาจต้องเป็นแกนกลางให้ครอบครัวอื่น ประเด็นคือ เพราะเราคุ้นชินกับสังคมตัวใครตัวมัน จนไม่ได้มองถึงการรวมกลุ่มเฉพาะกิจขึ้นมา ซึ่งโรงเรียนอาจมีส่วนต่อความร่วมมือครั้งนี้ด้วย เพราะครูจะรู้จักเด็กและผู้ปกครองแต่ละคน
ประการที่สอง – เชื่อมโยงกับโรงเรียน โรงเรียนควรต้องถือวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการใช้เทคโนโลยีในการเชื่อมโยงกับพ่อแม่ผู้ปกครองสำหรับเด็กเล็ก ส่วนเด็กโตก็ให้คุณครูเป็นผู้เชื่อมโยงผ่านช่องทางการสื่อสารที่เหมาะสม เพื่อมอบหมายงานหรือใช้เป็นช่องทางการสื่อสารที่ต้องการ
ประการที่สาม –ใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อการเรียนรู้ ถือโอกาสนี้ในการบริหารจัดการการเรียนรู้ของเด็กในช่วงวิกฤติไปซะเลย อาจออกแบบการเรียนรู้ให้เข้ากับสถานการณ์จริงก็ได้ หรือให้เด็กทำงานหรือทบทวนบทเรียนที่บ้าน
สังคมยุคดิจิทัล อย่าใช้วิธีคิดแบบเดิม ๆ การเรียนรู้ของมนุษย์มีหลายมิติ
ในสถานการณ์ปกติ ก็เรียนรู้แบบปกติ แต่ในสถานการณ์วิกฤติ เราก็ต้องมีวิธีการให้เด็กได้เรียนรู้ในสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเพิ่มทักษะชีวิตให้กับตัวเด็กด้วย
ในเมื่อเราจะวิ่งไปสู่สังคม 4.0 แต่วิธีคิดเรื่องนี้เรายังไม่หลุดจากกรอบเดิม ๆ เลย
แล้วเราจะสร้างอนาคตของชาติแบบไหนกัน !!


กำลังโหลดความคิดเห็น