xs
xsm
sm
md
lg

แจงมาตรการ “ห้ามใช้รถส่วนตัว” แก้ฝุ่น PM2.5 เป็นอำนาจนายกฯ ค่าต้องเกิน 90 นาน 3 วัน กินพื้นที่ครึ่งหนึ่ง กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมอนามัย แจงมาตรการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ห้ามขับรถยนต์ส่วนตัว ปิดเรียน ปิดงาน เป็นอำนาจนายกฯ สั่งการตาม พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อมฯ หากสถานการณ์อันตรายร้ายแรง โดยค่าฝุ่นต้องเกิน 90 มคก./ลบ.ม. นาน 3 วัน เกินพื้นที่ครึ่งหนึ่งของ กทม. เผย สถานการณ์ล่าสุดยังขึ้นลง บังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เดิมก่อน

วันนี้ (22 ม.ค.) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้เกิดความเข้าใจผิดว่า กรมอนามัยจะต้องเป็นผู้ออกประกาศในการควบคุมสถานการณ์ หากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 วิกฤตรุนแรง ซึ่งข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 จะมีในส่วนของมาตรา 9 ที่ระบุว่า เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุภยันตรายต่อสาธารณชนอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ หรือภาวะมลพิษที่เกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัยของประชาชน หรือก่อความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐเป็นอันมาก ให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควร ดังนั้น หากเกิดมลพิษจนเป็นอันตรายต่อสาธารณชน นายกฯ มีอำนาจในการออกประกาศอยู่แล้ว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ส่วนคำถามว่า สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เมื่อใดจะเกิดภาวะอันตรายวิกฤตต่อสาธารณะ ในการหารือร่วมกับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา มีข้อสรุปว่า ค่าฝุ่น PM2.5 จะต้องเกิน 90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน และครอบคลุมพื้นที่เกินครึ่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร (กทม.) จึงจะเข้าข่ายเป็นอันตรายต่อสาธารณะ แล้วใช้อำนาจตามมาตรา 9 ออกประกาศควบคุม ซึ่งอาจมีทั้งการห้ามรถขับรถยนต์ส่วนตัว หรือการปิดโรงเรียน สถานที่ทำงาน จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ส่วนตอนนี้สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นนั้น เนื่องจากค่าฝุ่น PM2.5 ยังขึ้นๆ ลงๆ และสูงแค่บางจุดของ กทม. และปริมณฑลเท่านั้น มาตรการในขณะนี้ จึงอาศัยกฎหมายที่มีอยู่ในการบังคับใช้ เช่น ผู้ว่าฯ กทม. และจังหวัดปริมณฑล ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ออกประกาศห้ามเผาในที่โล่ง หรือการใช้กฎหมายจราจรและขนส่ง ในการควบคุมรถบรรทุกในการเข้าออกเมือง การตรวจจับรถควันดำ เป็นต้น

เมื่อถามว่า พื้นที่ที่เกิดค่าฝุ่นสูงซ้ำๆ จะมีเกณฑ์พิจารณาสถานการณ์วิกฤตเพื่อควบคุมเฉพาะพื้นที่หรือไม่ พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ขณะนี้ทราบดีว่า พื้นที่ใดที่เกิดค่าฝุ่น PM2.5 สูงซ้ำๆ ซึ่งมักจะเป็นตามแนวถนนเข้าออก กทม. ที่มีการจราจรหนาแน่นและติดขัด ซึ่งปัญหาการจราจรนี้เป็นสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 ใน กทม. ถึงร้อยละ 60 อย่างไรก็ตาม คงไม่รอให้สถานการณ์ค่าฝุ่น PM2.5 สูงจนวิกฤตถึงขั้นต้องออกมาตรา 9 ก็จะใช้มาตรการที่มีอยู่ในการลดต้นเหตุของการเกิดฝุ่น อย่างจราจรจะรู้ดีว่าพื้นที่ที่เป็นปัญหาอยู่จุดใดก็ต้องไปจัดการจราจรให้ราบรื่นขึ้น หรือตอนนี้รถโดยสารสาธารณะก็อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนรุ่นของเครื่องยนต์ เพื่อให้การสันดาบดีขึ้น ลดการปล่อยมลพิษลง ส่วนของสาธารณสุขเองก็จะลงไปให้ข้อมูลในการดูแลสุขภาพในพื้นที่เสี่ยงเหล่านี้ เพื่อลดการสัมผัสและผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 ให้ได้มากที่สุด เช่น การปิดบ้านเพื่อป้องกันฝุ่นละออง ลดกิจกรรมภายนอกบ้าน หากจำเป็นต้องเดินทางไปทำงาน อาจหาอุปกรณ์ป้องกันในช่วงที่ผ่านเส้นทางที่มีฝุ่นละอองมาก และใช้เวลาสัมผัสให้น้อยที่สุด และเมื่อถึงสถานที่ทำงานค่อยถอดอุปกรณ์ป้องกันออก เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น