xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ เฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน สั่งรายงาน 3 กลุ่มโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สธ. เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ เฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพจากปัญหา ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน พร้อมให้ความรู้ วิธีป้องกันตัวที่ถูกต้อง ประสาน กทม. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เฝ้าระวัง รายงานโรคระบบทางเดินหายใจ หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด เผยยังไม่พบผู้ป่วยสูงขึ้นจนผิดปกติ

วันนี้ (14 ม.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพและให้ความรู้ในการป้องกันตนเองจากปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง ว่า จากการติดตามสถานการณ์กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กใน กทม. และ ปริมณฑล วันที่ 14 ม.ค. ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง คุณภาพอากาศโดยรวมยังอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงได้มอบให้ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัด สธ. เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ที่ สธ.เพื่อติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ ให้ความรู้ประชาชนและวิธีป้องกันตัวที่ถูกต้อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด

นพ.สุขุม กล่าวว่า นอกจากนี้ สธ. ได้วางแนวทางในการดูแลและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากมลพิษในอากาศร่วมกับ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้มาตรการทางกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 รวมทั้งการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่ กทม. ใน 2 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจและโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด มีการสื่อสารเตือนภัยให้ประชาชนทราบความเสี่ยงและป้องกันดูแลสุขภาพของตนเองได้

“ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่ได้เกินค่าในทุกพื้นที่ และพื้นที่ที่มีค่าเกินมาตรฐานก็ไม่ได้ค่าสูงอยู่ตลอดเวลา ข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยาที่ได้รับรายงานในโรงพยาบาลเครือข่ายกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 3 สิงหาคม 2561-7 มกราคม 2562 ไม่พบว่ามีผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคที่เฝ้าระวังสูงขึ้นผิดปกติ หรือพบเป็นกลุ่มก้อนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้แก่ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และไม่มีรายงานผู้ที่มีอาการรุนแรง” นพ.สุขุมกล่าว

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัว เช่นโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ โรคหัวใจ หากออกจากบ้านให้สวมหน้ากากป้องกัน และสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อยๆ หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือ วิงเวียนศีรษะ ขอให้ไปพบแพทย์


กำลังโหลดความคิดเห็น