xs
xsm
sm
md
lg

ไทยลด “ตายคาถนน” เหลืออันดับ 9 ของโลก “เมาไม่ขับ” ชี้ นโยบาย “พท.-ปชป.-อนาคตใหม่” ไม่โดนใจ ไม่เลือกแน่ ชงแจกหมวกกันน็อกเด็กฟรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เวทีสมัชชาสุขภาพดึง 4 พรรคการเมืองเสนอนโยบายแก้ปัญหา “ตายคาถนน” ด้าน “เพื่อไทย-ปชป.-อนาคตใหม่” ขายไอเดียแก้ปัญหาหวังโกยฐานเสียง หลังโพลชี้ติดอันดับ 3 เรื่องควรแก้ในรัฐบาลใหม่ ขณะที่ “พลังประชารัฐ” หายจ้อยไม่ส่งตัวแทนร่วม ศวปถ. เผย ไทยลดอัตราตายทางถนนเหลืออันดับ 9 ของโลก แต่ยังแชมป์ “มอเตอร์ไซค์” คว่ำตายสูงสุด ส่วน “เมาไม่ขับ” ชี้ นโยบาย 3 พรรคไม่แก้ปัญหาจริง ไม่เลือกแน่นอน แนะลุยแจกหมวกกันน็อกเด็กฟรี

วันนี้ (13 ธ.ค.) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการฯ ภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 พ.ศ. 2561 มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ “การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน” เพื่อทราบข้อเสนอนโยบายและแนวคิดนโยบายพรรคการเมือง ซึ่งในครั้งนี้มีการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมเสวนา ทั้งจากพรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งปรากฏว่าตัวแทนจากพรรคพลังประชารัฐไม่ได้เข้าร่วมงานด้วย

นพ.ธนพงษ์ จินวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า แม้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยจะลดลงจากอันดับ 2 ของโลก เหลืออันดับ 9 ของโลก แต่ก็ยังติดอยู่ใน 10 อันดับอยู่ดี โดยลดลงจาก 36.2 ต่อแสนประชากร เหลือ 34 ต่อแสนประชากร หรือลดประมาณ 1,000 กว่าคน แต่อัตราการตายจากรถจักรยานยนต์ยังคงเป็นอันดับ 1 ของโลก สิ่งที่น่าห่วง คือ อุบัติเหตุทางถนนคร่าชีวิตวัยเด็กและวัยทำงาน เห็นได้ชัดจากข้อมูลใบมรณบัตรพบว่า เด็กตายจากอุบัติเหตุปีละ 2,510 คน หรือเฉลี่ยวันละ 7 คน นับรวมวัยทำงานด้วย เท่ากับตาย 2 ใน 3 ของการตายทั้งหมด หรือประมาณ 14,000 คนต่อปี และกลายเป็นผู้พิการรายใหม่ 6-7 พันคนต่อปี ทำให้สัดส่วนวัยทำงานที่จะดูแลผู้สูงอายุไม่เพียงพอ ขณะที่ผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกือบ 1 ใน 5 ของประชากร โดยอัตราการพึ่งพิงคนผู้สูงอายุ 1 คน จากเดิมมีวัยทำงานดูแลประมาณ 10 คน แต่ในอีก 7 ปีข้างหน้า จะเหลือเพียง 3.2 คน โดย จ.สระแก้วจะเหลือเพียง 1.5 คนเท่านั้น

นพ.ธนพงษ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ซูเปอร์โพลได้ทำโพลเมื่อวันที่ 15 พ.ย.- 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา ถามถึงนโยบายพรรคการเมือง ว่า หากมีรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาอยากเห็นการจัดการอะไรเร่งด่วน อันดับ 1 คือ ปัญหาเศรษฐกิจ อันดับ 2 เรื่องการศึกษา ส่วนอันดับ 3 เรื่องการจัดการการตายทางถนน โดย 2 ใน 3 อยากเห็นนโยบายอย่างจริงจัง และหากมีนโยบายเรื่องความปลอดภัยทางถนน ร้อยละ 20.9 ระบุว่า มีผลต่อการตัดสินใจอย่างมาก โดย 10 อันดับที่อยากเห็นนโยบายด้านความปลอดภัยทางถนนพบว่า 1.อุบัติเหตุที่มีคนตายต้องมีการจัดการอย่างเด็ดขาดกับพฤติกรรมอันตราย ได้แก่ ย้อนศร ฝ่าไฟแดง ชนแล้วหนี แซงไหล่ทาง 68%  2. คนเดินถนน ต้องมีการจัดการทางเดิน ฟุตปาธ ทางม้าลาย ที่ปลอดภัย 63% 3. รถสาธารณะที่สะดวกทั่วถึงปลอดภัย 62%  4. ถนนต้องปลอดภัย มีระบบตรวจสอบความปลอดภัยที่ดี จุดเสี่ยงซ้ำซาก โค้งร้อยศพ ต้องได้รับการแก้ไขและหมดไป 62%  5. ยกเลิกสินบนนำจับ นำเงินค่าปรับเป็นกองทุนเพื่อจัดหาอุปกรณ์และหนุนการจัดตั้งศาลจราจร 48% 6. มอเตอร์ไซค์ต้องได้รับสิทธิการเดินทางที่ปลอดภัย เช่น เลนจักรยานยนต์ 42%  7. อุบัติเหตุมีคนตาย ต้องตรวจแอลกอฮอล์คนขับขี่อย่างเท่าเทียมเป็นธรรม  40%  8. รัฐบาลมีการประเมินผลงาน รายงานต่อสาธารณะและสภาผู้แทนราษฎร 36%  9. รถรับส่งนักเรียนฟรี (รัฐอุดหนุน) กำหนดเป็นสิทธิพื้นฐานในการเดินทางไปโรงเรียนอย่างปลอดภัย 35%  และ 10. เพิ่มความคุ้มครองเยียวยา เสียชีวิตประกันต่ายชดเชยไม่น้อยกว่าศพละ 1 ล้านบาท 34%

นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเทศที่เจริญแล้วสถิติเกิดอุบัติเหตุจะน้อยกว่าประเทศที่เจริญน้อยกว่า แสดงว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ลดอุบัติเหตุลงได้ ทั้งจากคน เครื่องจักรกล และกฎหมาย การขับเคลื่อนแก้ปัญหาของพรรคมองเป็นเรื่องๆ ดังนี้ 1. การสร้างพฤติกรรม นิสัย วินัยด้านจราจรให้เกิดขึ้นกับคนไทยทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่ม โดยเฉพาะตั้งแต่วัยเด็ก กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ต้องรับผิดชอบบรรจุเข้าไปในหลักสูตร วินัยคนขับขี่ เช่น เมาไม่ขับ ง่วงนอนไม่สบายไม่ขับ คนเดินถนนก็ต้องมีวินัย เช่น การข้ามถนน เป็นต้น 2. การทำถนนให้สะดวกและปลอดภัย เช่น เรื่องการตีเส้นจราจร ลักษณะถนนของทางโค้ง ความลาดเอียง การติดป้ายจราจรหรือป้ายแจ้งเตือนจุดก่อนสร้างหรือจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆ ไฟฟ้าส่องสว่างต้องชัดเจน ถนนตัดทางรถไฟซึ่งบางแห่งไม่มีไม้กั้นก็ต้องดำเนินการ โดยกระทรวงคมนาคมและท้องถิ่นต้องเข้ามาดูแล  3. เรื่องกฎหมาย เช่น การออกใบขับขี่ต้องดูปัญหาสุขภาพที่กระทบต่อการขับขี่ด้วย การฝึกอบรมก่อนออกใบขับขี่ 4. การกำหนดมาตรการควรรณรงค์ตลอดทั้งปี ไม่ใช่โหมตอนช่วงเทศกาล และ 5. เรื่องงบประมาณ ซึ่งจะต้องมีการสนับสนุนในการดำเนินการ มิเช่นนั้น การขับเคลื่อนให้สำเร็จจะเป็นเรื่องยาก

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคอนาคตใหม่สัญญาไม่ทำโครงการประชานิยม ทั้งนี้ เห็นด้วยกับข้อเสนอของสมัชชา แต่สิ่งที่อยากเพิ่ม เช่น ในกฎหมายการจ่ายค่าปรับนั้นควรปรับเพื่อนำเข้ากองทุนที่จะนำกลับมาพัฒนาเรื่องการใช้รถใช้ถนนอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ที่ควรผลักดันจริงๆ คือ คะแนนใบขับขี่ เพราะว่าเรื่องค่าปรับนั้นความสามารถในการจ่ายค่าปรับของคนต่างกัน แต่ถ้าเป็นคะแนนใบขับขี่ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน อีกเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือการส่งเสริม และเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนใช้รถขนส่งสาธารณะ การเพิ่มถนนไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้ เพราะต้องยอมรับว่าการขยายของเมือง ขยายถนนก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน

“การแก้ปัญหาไม่ว่าอะไรก็ตาม ต้องรู้จุดและแก้อย่างถูกวิธี เพราะย้ำเสมอว่าประเทศไทยจริงๆมีงบประมาณ เพียงแต่ที่ผ่านมาใช้ซ้ำซ้อน ใช้ในสิ่งที่ไม่ควรทำ อย่างการสร้างคมนาคม กรุงเทพฯ ไปโคราช มีความจำเป็นจริง แต่ต้องลงทุนมากมายขนาดนี้หรือไม่ เราควรรัดเข็มขัดในบางเรื่อง อย่างกรณีเรือดำน้ำ หรือการซื้อาวุธจำเป็นแค่ไหน” นายสุรเชษฐ์ กล่าว

นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เสนอว่า ควรมีการตั้งหน่วยงานด้านพฤติกรรม ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายการเมืองเรื่องนโยบายที่ต้องจริงจังอยากแก้ปัญหา ฝ่ายวิชาการที่มีข้อมูล งานวิทยาศาสตร์ในการแก้ปัญหา และชุมชนที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งไม่ใช่แก้ปัญหาด้านอุบัติเหตุจราจรเท่านั้นแต่เป็นทุกเรื่องที่ต้องปรับพฤติกรรม สำหรับการปรับพฤติกรรมด้านการจราจรสามารถทำได้ผ่าน 3 ด้าน คือ 1. ถนน ต้องออกแบบที่ช่วยปรับพฤติกรรมให้ตระหนักความปลอดภัยได้ เช่น ชิคาโก ทางโค้งมีคนตายเยอะ แก้ปัญหาโดยการตีเส้นขาวบนถนนให้มีความชิดกันมากขึ้น ทำให้คนขับรู้สึกว่าความเร็วเร็วกว่าปกติ ช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ 36% หรือการติดภาพที่วิ่งสวนทางเพื่อให้รู้สึกว่าขับรถเร็ว เป็นต้น 2. ผู้ใช้ถนน ยกตัวอย่าง การบีบแตรบนถนน อินเดียติดเสียงและสัญญาณไฟในรถ ทำให้รู้ทันทีว่าคันไหนบีบแตร คนขับจึงคิดก่อนว่าจะบีบหรือไม่ หรือการขับรถมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า อาจต้องทำเสาไว้บนทางเท้าให้คนเดินผ่านได้ แต่มอเตอร์ไซค์ผ่านไม่ได้ คนขับก็จะคิดแล้วว่าคุ้มหรือไม่ที่จะขึ้นไปลำบากบนทางเท้า หรือคนไม่สวมหมวกกันน็อก อาจต้องใช้วิธีคะแนนเครดิต เช่น การต่อใบอนุญาตขับขี่หรือรถ หากโดนจับไม่สวมหมวกกันน็อกคะแนนโดนตัดไปเรื่อยๆ หากน้อยกว่า 70 คะแนนต้องไปต่อใบอนุญาตทุกปี แต่หากมากกว่าก็ต่อให้อัตโนมัติ เป็นต้น และ 3. ผู้คุมกฎ อย่างการแก้ปัญหารับสินบน อาจให้ติดกล้องที่ตำรวจจราจรทุกคนเหมือนสหรัฐอเมริกาที่ติดตำรวจทุกคนเพื่อลดความรุนแรงในการจับผู้ต้องหา ทำให้ไม่กล้าทั้งฝ่ายตำรวจและคนใช้รถ หรือสินบนนำจับมองว่าต้องเพิ่มขึ้น เพื่อให้เปอร์เซ็นต์ที่ตำรวจควรได้เพิ่มขึ้น จนไม่ต้องรับสินบนแต่ต้องศึกษาว่าต้องเพิ่มมากขนาดไหน

นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า จากการรับฟังนโยบายของพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค บอกได้เลยว่า ถ้าเตรียมเดินนโยบายแบบนี้ ตนจะไม่เลือกแน่นอน เพราะไม่ได้แก้ปัญหาจริงๆ ซึ่งถ้าเป็นตนจะไม่ทำแบบนี้ แต่จะมีวิธีที่หากดำเนินการจะลดการตายจากอุบัติเหตุลงได้จากปัจจุบันปีละ 20,000 คน เหลือ 10,000 คน ภายใน 1 ปีแน่นอน ซึ่งพรรคการเมืองสามารถนำไปใช้ได้ เช่น คนขี่มอเตอร์ไซค์ รวมทั้งคนซ้อนท้ายต้องสวมหมวกกันน็อกทุกคัน หากพรรคไหนเป็นรัฐบาลควรมีมาตรการตรงนี้ ซึ่งหากตนเป็นนายกฯ ตนจะสั่งทุกพื้นที่ต้องดำเนินการ เช่น หากไปพื้นที่ไหนและพบว่า มีคนขับขี่มอเตอร์ไซค์ แต่ไม่สวมหมวกกันน็อก จะถ่ายรูปไว้และเรียกผู้กำกับพื้นที่นั้นๆ ไปสอบถามว่า จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ หากแก้ไม่ได้ก็ย้ายออก หาคนอื่นมาแทน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้แต่ละพื้นที่แก้ไขปัญหาไม่สวมหมวกกันน็อกได้หมด อย่างน้อยสำเร็จกว่าร้อยละ 90 จริงๆ คนมีมอเตอร์ไซค์ มีหมวกกันน็อกกันหมด ยกเว้นเด็ก จะไม่ค่อยมีกัน ตรงนี้พรรคการเมืองควรมีนโยบายแจกหมวกกันน็อกเด็กๆ ฟรีทั่วประเทศ ป้องกันอุบัติเหตุและการเสียชีวิตในเด็กได้ ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองเด็กด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงาน นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุทางถนน และ นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ได้ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อให้พรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค ในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจร คือ 1. ต้องมีองค์กรผู้นำขับเคลื่อน 2. มีงบประมาณขับเคลื่อนทางด้านต่างๆ ไม่ใช่แยกทำหน่วยงานไหน หน่วยงานนั้น และ 3. ตั้งเป้าหมายลดอุบัติเหตุลงกี่เปอร์เซ็นต์






กำลังโหลดความคิดเห็น