xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เผย 4 แผนดูแลคนร่วม “Bike อุ่นไอรัก” ตั้งจุดปฐมพยาบาลทุก 500 เมตร เตรียมพร้อมระบบส่งต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สธ. เผย 4 แผนเตรียมพร้อมดูแล ปชช. ร่วมกิจกรรม “Bike อุ่นไอรัก” จัดทีมแพทย์เคลื่อนที่ตามขบวน พร้อมตั้งจุดปฐมพยาบาลทุก 500 เมตร เตรียมรถพยาบาลและ รพ. รับส่งต่อ แนะเตรียมความพร้อมร่างกายก่อนปั่น

วันนี้ (5 ธ.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์รองรับกิจกรรม “Bike อุ่นไอรัก” ที่จัดขึ้นในวันที่ 9 ธ.ค. 2561 ว่า สธ. ได้ร่วมกับทุกภาคส่วน ได้แก่ แพทย์ประจำพระองค์ กองแพทย์หลวง โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) โรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลสังกัดเหล่าทัพ โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลเอกชน มูลนิธิต่างๆ เช่น มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู รวมถึงจิตอาสาดูแลจัดบริการด้านการแพทย์แก่ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม “Bike อุ่นไอรัก” ให้ปลอดภัย ทั้งการปฐมพยาบาลกรณีเจ็บป่วยทั่วไป เจ็บป่วยฉุกเฉิน การส่งต่อส่งกลับโดยมีแผนการจัดการบริการสำหรับเส้นทางปั่น

นพ.สุขุม กล่าวว่า สธ. ได้จัดระบบบริการทางการแพทย์ไว้รองรับ ดังนี้ 1. จัดทีมแพทย์พร้อมชุดปฐมพยาบาลประจำจุดลงทะเบียน/จุดรวมพล/จุดพักบนเส้นทางผ่านของขบวนจักรยาน ทุก 500 เมตรตลอดเส้นทาง 2. จัดทีมแพทย์/พยาบาลเคลื่อนที่ปั่นตามขบวน จำนวน 60 คน พร้อมอุปกรณ์ เช่น เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ ชุดทำแผล และวิทยุสื่อสาร 3. จัดรถพยาบาลฉุกเฉินเตรียมพร้อมตลอดเส้นทางกว่า 200 คัน เพื่อการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน และส่งกลับตามเส้นทางปั่นที่ได้วางแผนร่วมกับทางตำรวจและทหาร และ 4. เตรียมโรงพยาบาลที่จะรับส่งต่อ พร้อมเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อประสานงานการดูแลประชาชนทั้งด้านการรักษาพยาบาล การส่งต่อกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในส่วน กทม. ให้กรมการแพทย์เป็นแกนหลักประสานการทำงานกับกองอำนวยการร่วม ส่วนภูมิภาคให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ยืนยันจะดูแลประชาชนอย่างดีที่สุด เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด ตามพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

“สธ. ได้จัดบริการวัดความดันโลหิตผู้เข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานทุกคนที่จุดลงทะเบียน และขอแนะนำผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมเตรียมความพร้อมก่อนปั่น ดูแลสุขภาพตนเองให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ โดยเฉพาะประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้ปั่นเป็นประจำ ผู้สูงอายุผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ควรพบแพทย์เพื่อประเมินสุขภาพก่อนเข้าร่วมกิจกรรม และขณะปั่นหากรู้สึกเหนื่อย เพลีย ให้หยุดพักทันที และแจ้งให้ทีมแพทย์ดูแลทันที เพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ต้องสวมหมวกกันน็อกตลอดการปั่นจักรยาน พกลูกอมติดตัว ดื่มน้ำระหว่างปั่นเพื่อชดเชยเหงื่อที่เสียไปหากมีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาพกติดตัวตลอดเวลา และไม่สร้างความเสี่ยงขณะปั่น คือ ไม่แซงหรือถ่ายรูปตนเอง” นพ.สุขุม กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น