xs
xsm
sm
md
lg

ต้องสร้างสมดุลการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยยุคดิจิทัล (7) / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ตอนที่ 7 ผลสรุปการเก็บข้อมูลชุดแรกของการนำงานวิจัยในระดับปริญญาเอก สาขาการบริหารการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “การบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย” มาสกัดเป็นภาษาง่าย ๆ กระชับ และสรุป เพื่อเผยแพร่เป็นตอน ๆ เพราะเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อวงการการศึกษาปฐมวัย และผู้ที่เกี่ยวข้องเรื่องปฐมวัย โดยเฉพาะในอีก 10 ปีข้างหน้า

………………………………………..

จากผลสรุปของการเก็บข้อมูลชุดแรก มีประเด็นสำคัญที่ค้นพบจากงานวิจัยอนาคตภาพในการบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย ที่ผู้ให้ข้อมูลทั้ง 17 คน มีความคิดเห็นสอดคล้องกันจากการวิจัยอนาคตภาพ เทคนิค Ethnographic Delphi Future Research (EDFR) เพื่อสัมภาษณ์ สังเคราะห์ข้อมูล จากนั้นให้ผู้เชี่ยวชาญยืนยันด้วยการตอบแบบสอบถาม เพื่อดำเนินการศึกษาอนาคตภาพในการบริหารจัดการสื่อดิจิทัลเพื่อเด็กปฐมวัย พบว่ามีองค์ประกอบสำคัญ 6 องค์ประกอบหลัก ซึ่งประกอบด้วย

1. การบริหารจัดการโดยภาครัฐ

2. การบริหารจัดการการใช้สื่อดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ

3. การบริหารจัดการบุคลากร

4. การบริหารจัดการงบประมาณ

5. การบริหารจัดการประสบการณ์การเรียนรู้

6. การมีส่วนร่วมในการพัฒนาการบริหารจัดการสื่อดิจิทัล

ตอนนี้มาถึงข้อมูลข้อที่ 5 คือ การบริหารจัดการประสบการณ์การเรียนรู้ พบว่ามีตัวแปรย่อย 14 ตัวแปร ประกอบด้วย

1. ควรส่งเสริมให้มีการจัดโปรแกรมการเรียนเป็นรายบุคคล

2. การเรียนรู้จะไร้รูปแบบ องค์ความรู้ โลกของความรู้จะกว้างขึ้น

3. การบริหารจัดการประสบการณ์การเรียนรู้จะไม่อิงอยู่กับห้องเรียน

4.การเรียนรู้จะเป็นการเรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องเกิดในห้องเรียน

5. การเรียนรู้เข้าใกล้ตัวมากขึ้น เป็นจริงมากขึ้น

6. เด็กสามารถสร้างการเรียนรู้ที่ตัวเองต้องการ ได้ด้วยตัวเอง

7. ควรจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้เด็กมีประสบการณ์กับของจริง

8. ส่งเสริมการค้นคว้าหาความรู้ควบคู่กับการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน

9.ส่งเสริมให้มีการใช้สื่อดิจิทัลที่หลากหลาย

10.ส่งเสริมให้มีการใช้สื่อดิจิทัลที่สามารถใช้ร่วมกันเป็นกลุ่ม

11. ส่งเสริมการจัดประสบการณ์การเรียนรู้การศึกษาทางเลือกที่เน้นใช้สื่อดิจิทัล

12. สื่อดิจิทัลควรเป็นแบบบูรณาการกับทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

13. การประเมินผลการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ทำเป็นรายบุคคลผ่านดิจิทัล

14. การประเมินผลต้องเปลี่ยนและรองรับหลักสูตรที่หลากหลาย

การจัดประสบการณ์ให้กับเด็กนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการที่เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์จะทำให้เด็กได้ความรู้และความเข้าใจขึ้นภายในตัวของเด็ก ด้วยการให้โอกาสลงมือกระทำเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ด้วยวิธีการปฏิสัมพันธ์ เพื่อได้คิด แก้ปัญหา เกิดประสบการณ์ตรง ทำให้เด็กได้เข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้และวิธีการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น และสามารถนำความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์การปฏิบัติหรือปัญญาที่เกิดขึ้น ไปใช้เพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่นได้ในสถานการณ์ที่ต่างออกไปนอกชั้นเรียน

การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ครูต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการใช้สื่อดิจิทัล และต้องเลือกใช้สื่อดิจิทัลให้ตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ ครูต้องเข้าใจและมีความรู้ในการเลือกสื่อ สามารถคัดสรรสื่อหลักและสื่อเสริมได้อย่างถูกต้องเหมาะกับเด็ก ครูต้องก้าวทันยุคสมัยของสื่อดิจิทัล สามารถสร้างวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กเป็นรายบุคคล และต้องมีเทคนิคในการใช้สื่อดิจิทัลให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่ต้องสอน

ที่สำคัญต้องดูแลคุณภาพของเนื้อหา (Content) ให้มีความเหมาะสมกับเด็ก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทางด้านต่างๆ อย่างรอบด้าน

สำหรับการใช้สื่อดิจิทัลกับเด็กนั้นต้องเริ่มต้นจากความสนใจของเด็ก เลือกสื่อที่ดีและปลอดภัยที่สนับสนุนความสนใจของเด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้มากขึ้น โดยต้องมีครูที่มีจุดมุ่งหมายในการใช้สื่อดิจิทัลอย่างชัดเจน และเข้าใจสื่อดิจิทัลที่เลือกใช้อย่างถ่องแท้ ในอนาคตการเรียนรู้ของเด็กจะมีลักษณะเฉพาะเหมาะสมกับเด็กแต่ละบุคคลมากขึ้น

โดยแนวคิดดังกล่าวนี้สอดคล้องกับหลักการการนำเทคโนโลยีและสื่อปฏิสัมพันธ์มาใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาสำหรับเด็กแรกเกิดถึง 8 ปี ของNational Association for the Education of Young Children ที่ระบุว่า ข้อคำนึงแรกในการเลือกใช้ เทคโนโลยีและสื่อปฏิสัมพันธ์สำหรับเด็กนั้นต้องไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก หรือ “ Above all, the use of technology tools and interactive media should not harm children”

ประเด็นที่ผู้ให้ข้อมูลมีความคิดเห็นสอดคล้องกันและมีความสำคัญอีกประการคือ การคัดเลือกสื่อดิจิทัลที่จะใช้สำหรับเด็กปฐมวัย จะต้องคำนึงถึงคุณภาพ จำเป็นจะต้องได้รับการคัดเลือกจากผู้ให้ข้อมูล และยืนยันว่ามีความเหมาะสมกับพัฒนาการเด็กและส่งเสริมให้เด็กเกิดการเรียนรู้

อย่างไรก็ตาม แม้การจัดประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัลจะมีความจำเป็นต่อโลกอนาคต แต่เมื่อคำนึงถึงพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย ดังเช่นที่ เพียเจต์ (Piaget) กล่าวว่าการจัดประสบการณ์ให้เด็กนั้น เด็กควรได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกหรือสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในภาวะสมดุล ฝึกทำกิจกรรมตามลำพังและการรวมกลุ่ม เด็กจึงได้เรียนรู้จากกันและกัน ซึ่งการเรียนรู้ในลักษณะนี้น่าจะทำให้เกิดความเข้าใจกันได้ดีกว่าการเรียนรู้จากครู เด็กได้มีประสบการณ์ตรง มีอิสระทางความคิด

หรือ อีริคสัน (Erikson) ที่เชื่อว่าวัยเด็กเป็นวัยแห่งการเรียนรู้และการได้รับประสบการณ์ การจัดสิ่งแวดล้อมที่ดีช่วยให้เด็กเกิดความมั่นใจในตนเอง มองโลกในแง่ดีและรู้จักไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่น ในช่วงวัยก่อนเรียน หรือวัยเล่น (อายุ 4-7 ปี) ซึ่งเป็นขั้นของความคิดริเริ่มและการตัดสินใจ หรือความรู้สึกผิด เชื่อว่าเด็กวัยนี้สามารถช่วยเหลือตนเองได้ดีและมีความสามารถในการทำสิ่งต่าง ๆ โดยผู้ใหญ่มีหน้าที่สนับสนุนให้เด็กได้พยายามแสดงความสามารถใหม่ ๆ ในด้านสังคมเด็กเรียนรู้ในการเข้าสังคมจากการเล่นกับเพื่อน มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และเลียนแบบผู้อื่น เช่น พ่อแม่ หรือบุคคลใกล้ชิด ซึ่งพ่อแม่และผู้ใหญ่ต้องเป็นต้นแบบที่ดีกับเด็ก เพื่อให้เด็กเรียนรู้ทักษะทางสังคม มีลักษณะนิสัยที่ดี รวมทั้งรู้สิ่งที่ถูกผิด การปลูกฝังจริยธรรมโดยมีพ่อแม่ผู้ใหญ่เป็นต้นแบบที่ดี

ฉะนั้น การบริหารจัดการประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย จึงมีความจำเป็นที่ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องสร้างสมดุลให้กับเด็กอย่างเหมาะสม ให้เด็กได้มีประสบการณ์ตรงจากการสัมผัสของจริง ขณะเดียวกันก็สามารถใช้สื่อดิจิทัลเป็นตัวช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้เด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น