xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่ฟ้องร้อง!! อภ.จ่อร่อนหนังสือถามกรมทรัพย์สินฯ บี้แจงทางแก้ “สิทธิบัตรกัญชา” ลุยสร้างโรงงานสารสกัดต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานบอร์ด อภ. ยันเตรียมส่งหนังสือสอบถามกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอข้อสรุปสิทธิบัตรกัญชา แนะกางคำขอทั้งหมดมีกี่ตัว อยู่ขั้นตอนไหน แก้ปัญหาอย่างไรให้เกิดความชัดเจน ยันคงไม่ถึงขั้นฟ้องร้อง ลุยเดินหน้าวิจัยสกัดและสร้างโรงงานต่อ เลขาฯ ป.ป.ส. ย้ำ ไม่อนุญาตให้คนทั่วไปปลูก ยังเป็นยาเสพติด

วันนี้ (14 พ.ย.) ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานป้องกัรและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จัดโครงการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในการใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ โดย นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) และ ประธานคณะกรรมการการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  กล่าวในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “ผ่อนปรนกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์” ว่า ขอย้ำว่า กัญชาไม่ใช่ยาวิเศษ แต่จะนำสารสำคัญในกัญชา ทั้ง THC และ CBD มาใช้ประโยชน์ และยังไม่ได้อนุญาตให้ใช้เพื่อสันทนาการ และไม่ได้ให้อิสระในการปลูกในพื้นที่ไหนก็ได้ ฉะนั้น ประชาชนทั่วไปไม่สามารถปลูกได้ กัญชายังคงเป็นยาเสพติดอยู่ ทั้งนี้ การปลดล็อกจะต้องทำเป็นขั้นเป็นตอน ค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเรื่องของกรมทรัพย์สินทางปัญญารับคำขอสิทธิบัตรจากบริษัทต่างชาติ อยากให้กรมทรัพย์สินทางปัญญานำรายการคำขอสิทธิบัตรทั้งหมดมากางว่ามีกี่ตัว ตัวไหนอยู่ในขั้นตอนไหน และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพื่อให้เกิดความชัดเจน

เมื่อถามว่าจะฟ้องกรมทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ เพราะ อภ. เป็นผู้เสียหาย นพ.โสภณ กล่าวว่า ได้ให้ทีมกฎหมายของ อภ. ดูกฎหมายต่างๆ เพราะเชื่อมั่นว่าไม่สามารถจดสิทธิบัตรสารสกัดจากพืชได้ เนื่องจากเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ได้สอบถามอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ยังระบุเองว่า ไม่สามารถจดได้ ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นหน่วยงานภาครัฐด้วยกันคงไม่ได้ถึงขั้นต้องฟ้องร้อง แต่ก็จะมีกระบวนการอยู่ว่า หากเกิดความขัดแย้ง หรือมีความเสียหายระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันว่าจะต้องทำอย่างไร เช่น มีการนำเรื่องเข้า ครม. เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นได้ให้ทีมกฎหมายของ อภ. ทำหนังสือไปยังกรมทรัพย์สินทางปัญญา ว่า เรื่องคำขอสิทธิบัตรกัญชาสรุปแล้วมีผลอย่างไร หากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบก็จะได้ยึดตามนั้น เพราะถ้าการที่ อภ. ลงทุนไป 120 ล้านบาท สุดท้ายหากเกิดปัญหาขึ้นแล้ว สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบมา ก็จะมีคำตอบให้ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญายืนยันมาอย่างนี้

“ขณะนี้ อภ. ยังไม่ได้ถึงขั้นยุติการวิจัย การสกัด รวมถึงการตั้งโรงงาน เพราะเรามีการชั่งน้ำหนัก 2 เรื่อง คือ 1. ถ้าเราชะลอเรื่องนี้ผลเสีย คือ เราจะไม่มีน้ำมันกัญชาใช้เลย และ 2. ถ้าเราเดินหน้าต่อแล้วจะคุ้มหรือไม่ ถ้าถูกบริษัทต่างชาติยื่นหนังสือตักเตือน หรือฟ้องเรา ก็คิดว่าเดินหน้าตามข้อ 1 ดีกว่า เพราะอย่างน้อยเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ไปพบอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ก็บอกเองว่า ไม่สามารถจดได้ แต่ก็ต้องทำหนังสือสอบถามอย่างเป็นทางการอีกครั้ง” นพ.โสภณ กล่าวและว่า เรื่องนี้บอร์ด อภ. ยังไม่ได้มีการประชุมกัน แต่ว่าในวันที่ 16 พ.ย. นี้ อภ. จะมีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องสมุนไพร โดยมี 1 ห้องประชุมเล็กที่คุยกันเรื่องกัญชาก็จะนำเรื่องนี้มาพูดคุยด้วย

นพ.ธเรศ กรัษนัยรววิวงค์ เลขาธิการ อย. กล่าวว่า วันที่ 13 พ.ย. ครม. รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติด พ.ศ. ... ฉบับเสนอโดย 44 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แนวทางการปลดล็อกกัญชาก็จะนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่กัญชายังคงอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภท 5 เหมือนเดิม แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ผู้ดำเนินการต้องเป็นหน่วยงานรัฐ และมีกำหนดระยะเวลาในการใช้ 5 ปี แต่ต้องมีกฎหมายลูกรองรับ ซึ่งจะเร่งดำเนินการต่อไป

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า การควบคุมกัญชาใช้ในทางการแพทย์ตามกรอบวางไว้ว่า ผู้ดำเนินการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ครอบคลุมตั้งแต่การปลูก สายพันธุ์ พื้นที่เพาะปลูก เพื่อให้ได้กัญชาคุณภาพ นำสารสำคัญใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพราะกัญชาเป็นพืชที่ดูดซึมธาตุเหล็ก ดังนั้น ต้องควบคุมการปลูกให้ดี และผู้ขออนุญาตปลูกต้องเป็นนิติบุคคล หน่วยงานของรัฐ มีโรงเรือนปิด ปลอดภัย และมีการกำหนดปริมาณในการปลูก เพื่อให้พอกับความต้องการ แต่บุคคลทั่วไปไม่สามารถปลูกได้ เพราะกัญชายังถือเป็นยาเสพติด การขออนุมัติปลูกยังต้องผ่านคณะกรรมการยาเสพติดด้วย ซึ่งขณะนี้ผู้ขออนุญาตและใช้ประโยชน์จากกัญชาของกลางยาเสพติดมีมหาวิทยาลัยรังสิตและองค์การเภสัชกรรม

นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต กล่าวว่า ในการวิจัยใช้กัญชาในการรักษาอาการทางจิตเวชแยกเป็นการใช้แบบเพียวๆ และการใช้สารสกัด ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าการใช้เพียวๆ ในระยะแรกมีอาการเสพติดได้ แต่ไม่รุนแรง ในระยะ 1-2 วัน มีคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ประสาทหลอน หูแว่ว สิ่งที่เป็นห่วงคือเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อาจมีการใช้กัญชาเพราะจะทำให้มีฤทธิ์ข้างเคียงต่อความจำ และสมาธิสั้นมีผลต่อการทำงานของสมองที่แย่ลงอย่างถาวร และในวัยรุ่นอาจส่งผลให้ป่วยเป็นจิตเวช ส่วนสารสกัดแม้ไม่มีผลที่บ่งชี้ชัดเจน แต่ก็ต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม และปัจจุบันยังไม่มีการใช้ในการรักษาผู้ป่วยจิตเวช ซึมเศร้า มาก่อน เพราะยังไม่พบงานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่าใช้ได้




กำลังโหลดความคิดเห็น