xs
xsm
sm
md
lg

จี้อธิบดีกรมทรัพย์สินฯ ถอนคำขอ “สิทธิบัตรกัญชา” ด่วน!! ขู่ฟ้องละเว้นหน้าที่ อึ้งระบบห่วย คำขอหมดอายุ แต่ยังคงสถานะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาค ปชช. โต้กลับ ยันอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา สั่งยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาได้ จี้ กางคำขอทั้งหมดหากขัดหลักเกณฑ์ให้เพิกถอนทันที ย้ำ ไม่ทำเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ชง อภ.- ม.รังสิต ฟ้องศาล เหตุทำวิจัยและโรงงานสกัดไม่ได้ กระทบแพทย์แผนไทย ผู้ป่วยอีกมาก จี้ รมว.พาณิชย์ ทีมเศรษฐกิจ และ “บิ๊กตู่” จัดการด้วย แนะรื้อระบบฐานข้อมูลห่วย คำขอสิทธิบัตรกัญชาหมดอายุก็ยังคงสถานะ

วันนี้ (14 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ แถลงข่าวตอบโต้กรณี นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ที่อ้างว่าไม่สามารถยกเลิกคำขอสิทธิบัตรกัญชาได้ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริง อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาสามารถทำได้ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ 22 พ.ศ. 2542 ว่าด้วยการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรของพนักานเจ้าหน้าที่ ซึ่งสามารถยกคำขอได้ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตรวจสอบเบื้องต้น การประกาศโฆษณา และการตรวจสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาควรดำเนินการทันที หรืออย่างน้อยต้องออกมาแสดงต่อสาธารณชนว่าจะต้องดำเนินการอะไรบ้าง หากไม่ดำเนินการจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ผู้บังคับบัญชาอย่าง รมว.พาณิชย์ และรัฐบาลจะต้องพิจารณาเอาผิด ถ้าหากยังไม่ดำเนินการอีกก็จะสนับสนุนให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ได้รับความเสียหายเพราะไม่สามารถทำวิจัยต่อได้นั้น ให้ฟ้องร้องทั้งต่อศาลปกครองในเรื่องละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 และฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญา เพราะคำขอสิทธิบัตรนั้นเป็นขัดกฎหมายสิทธิบัตร ซึ่งภาคประชาสังคมพร้อมสนับสนุนข้อมูลต่างๆ ในการฟ้องร้อง นอกจากนี้ อาจระดมพลคนกัญชาที่จะได้รับผลกระทบจากการไม่ได้ใช้ประโยชน์กัญชาทางการแพทย์ให้ยื่นฟ้องด้วย แต่อาจใช้เวลานาน เพราะต้องพิสูจน์ต่อศาลว่าเป็นผู้มีสิทธิฟ้องจริงหรือไม่

“ในวันที่ 20 พ.ย. ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเรียกกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าไปชี้แจงเรื่องสิทธิบัตรกัญชานั้น ทางเครือข่ายกำลังติดต่อ สนช.ไปว่าขอเข้าไปฟังเพื่อไปถกแถลงหาทางออก ให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาทำตามกฎหมายของตัวเองด้วย เนื่องจากส่งผลกระทบมาก เพราะทำให้ สนช. ไม่สามารถพิจารณากฎหมายคลายล็อกกัญชาได้ แม้ ครม. จะเห็นชอบแล้ว ดังนั้น อภ. ที่วิจัยพัฒนาหรือเดินหน้าโรงงานสารสกัดก็ทำไม่ได้ทั้งหมด” น.ส.กรรณิการ์ กล่าวและว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่ต้องกลัวเรื่องการยกคำขอว่าจะถูกบริษัทต่างชาติฟ้อง เพราะไทยยังไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งหากเข้าร่วมมีความเป็นไปได้ที่จะมีข้อตกลงเรื่องนักลงทุนฟ้องร้องรัฐได้ แต่ก็น่ากังวลเพราะขณะนี้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลอยากเข้าร่วม CPTPP และที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็มีความพยายามในการเข้าถึงเทคโนโลยีชีวภาพของไทยมาตลอด จึงน่าสังเกตในเรื่องของสิทธิบัตรกัญชา อาจเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าถึงทรัพยากรทางชีวภาพหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กรมทรัพย์สินฯ ต้องปกป้องประเทศไทยและยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาที่ไม่เข้าเกณฑ์ โดยไม่ต้องกลัวฟ้องร้อง เพราะยังไม่มีช่องทางไหนที่ฟ้องร้องได้

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า ขณะนี้สิทธิบัตรกัญชามีเพิ่มออกมาเรื่อยๆ จากเดิมที่พบว่า มี 11 สิทธิบัตร ตอนนี้พบอีก 1 สิทธิบัตร โดยพบว่ามี 1 สิทธิบัตรละทิ้งคำขอโดยสมัครใจโดยผู้ยื่นคำขอ ยังอยู่ในชั้นประกาศโฆษณา 8 คำขอ และอยู่ระหว่างตรวจสอบการประดิษฐ์ 3 คำขอ ซึ่งกรมฯ จะต้องเอาข้อมูลคำขอเกี่ยวกับสิทธิบัตรกัญชามากางดูทั้งหมดว่ามีเท่าไร และต้องตรวจสอบเบื้องต้นว่าขัดต่อมาตรา 9 หรือไม่ คือ เป็นเรื่องของวิธีใช้รักษาและการจดสารธรรมชาติจากพืช เช่น บางคำขอใช้รักษาโรคลมชัก ลมบ้าหมู ซึ่งก็มีอยู่ในภูมิปัญญาของไทย ทั้งนี้ หากเข้าข่ายก็ยกคำขอทันที ส่วนที่ผ่านมาถึงขั้นประกาศโฆษณาแล้ว ก็สามารถตรวจสอบว่าขัดกับ ม.9 หรือไม่ หากขัดอธิบดีก็มีอำนาจยกคำขอได้เช่นกัน ส่วนที่อยู่ในขั้นตรวจสอบสิ่งประดิษฐ์ ก็ต้องเร่งตรวจสอบว่ามีความใหม่ มีนวัตกรรมที่สูงขึ้นหรือไม่ ถ้าไม่ก็ยกคำขอออกไป ถ้าไม่ดำเนินการยกเลิกตามกฎหมาย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ และรัฐบาลต้องรับผิดชอบ ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่เห็นออกมาพูดอะไร

“ไม่ใช่แค่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น รัฐบาล ทั้ง รมว.พาณิชย์ ทีมเศรษฐกิจ นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาทำอะไรให้เห็นถึงการปกป้องประชาชนคนไทย หากไม่ทำอะไรเลย แสดงว่า รัฐบาลไม่จริงใจที่จะปกป้องสิทธิของประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม อยากให้ อภ. ที่เดือดร้อนโดยตรง และ ม.รังสิต ที่วิจัยสารสกัดกัญชาและนักวิจัยทุกคนที่ทำเรื่องนี้ รวมถึงแพทย์พื้นบ้าน และผู้ป่วยที่กำลังรอความหวังการใช้กัญชาบำบัดโรคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ต้องดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิตัวเอง ภาคประชาชนพร้อมจะสนับสนุนข้อมูลและร่วมปกป้องสิทธิของคนไทย” นายวิฑูรย์ กล่าว

ภญ.อัจฉรา เอกแสงศรี นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรของกรมฯ ไม่มีความเสถียร สามารถพบเพิ่มได้ตลอดเวลา หรือแม้แต่ 11 คำขอเดิมที่พบก่อนหน้านี้ ก็พบว่า มี 1 คำขอที่ละทิ้งคำขอของตัวเอง แต่ประเด็นสำคัญคือมี 1 คำขอ คือ เลขที่คำขอ 0901002472 วันที่ยื่นคำขอ คือ 03/06/2552 วันที่ประกาศโฆษณา 19/08/2556 ซึ่งระบุว่าต้องยื่นตรวจสอบการประดิษฐ์ภายในวันที่ 19/08/2561 ที่เลยกำหนดเวลาตรวจสอบสิ่งประดิษฐ์แล้ว สามารถละทิ้งได้ แต่ยังอยู่คงสถานะอยู่บนเว็บไซต์ ซึ่งไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม กรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องเร่งตรวจสอบคำขอทั้งหมดที่เกี่ยวกับกัญชา โดยตามมาตรา 28 พ.ร.บ. สิทธิบัตร หากขัดต่อมาตรา 9 ให้ยกเลิกคำขอนั้นได้ทันที แม้จะประกาศโฆษณาไปแล้ว เพราะกฎหมายระบุให้เป็นหน้าที่ของอธิบดี และอธิบดีควรต้องปรับปรุงระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรให้มีประสิทธิภาพกว่านี้ เพราะจะไม่ทราบเลยว่ามีงานวิจัยอะไรที่ขอสิทธิบัตรบ้างจนกว่าจะมีการประกาศโฆษณา ถือเป็นหลุมดำ และแม้จะประกาศโฆษณาแล้วก็แทบจะไม่ทราบ เพราะไม่เปิดเผยสาธารณชนและขั้นตอนก็ยิบย่อยในการจะขอรายละเอียด อีกทั้งระยะเวลาตรวจสอบสิ่งประดิษฐ์ 5 ปีก็ยาวนานเกินไป ควรปรับแก้ให้เหลือเพียง 1 ปี ซึ่งเคยเสนอในร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตรฉบับใหม่แล้ว

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า ขณะนี้ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ทั้งตัวกฎหมายที่ไม่สามารถคลายล็อกได้ สนช. ต้องรอความชัดเจน อภ. ลงทุนงบประมาณสำหรับการสร้างโรงงานสกัดสารจากกัญชา ม.รังสิตมีงานวิจัยการพัฒนาเกี่ยวกับกัญชา ทุกอย่างติดขัดไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ อยากให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการตอบคำถามแต่ละข้อว่าผิดต่อมาตรา 5 และ 9 แค่ไหนอย่างไร หากมีคำขอที่ขัดจริงๆ ก็ต้องถอนออกไป แต่หากคิดว่าไม่ขัดก็ต้องแจงออกมา หากผิดพลาเจริงๆ ก็ต้องยอมรับ ไม่ว่าจะผิดพลาดโดยสุจริตใจหรือไม่ก็ตาม แต่หากไม่ตอบประเด็นนี้คงต้องนำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง ซึ่งผู้เสียหายโดยตรง คือ อภ. และ
ม.รังสิต

ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ ฉบับ สนช. 44 คนเสนอ ที่ผ่าน ครม. นั้น เป็นการปลดล็อกกัญชาและกระท่อมให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้เฉพาะในบางพื้นที่ที่ประกาศโดย ป.ป.ส. ให้เป็นพื้นที่เพาะปลูก วิจัย ทดลอง เสพและครอบครองได้ เช่นเดียวกับร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของ กมธ.พิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งจำเป็นต้องเลื่อนไปหนึ่งสัปดาห์เพื่อรอการชี้แจงจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องสิทธิบัตร เนื่องจากมีบริษัทต่างชาติยื่นขอสิทธิบัตรแล้วถึง 10 บริษัท ซึ่งกรมฯ รับเอกสารไว้แล้วแต่ยังไม่สามารถอนุมัติให้จดสิทธิบัตรได้เพราะกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 การจดสิทธิบัตรจะเป็นขั้นตอนและวิธีการสกัด Cannabinoid โดยเฉพาะ THC และ CBD ซึ่งเป็นสารอยู่ในกัญชา วิป สนช. จะเชิญข้าราชการกรมทรัพย์สินมาชี้แจงในวันอังคารหน้า เพราะการออกกฎหมายห้ามจดสิทธิบัตรอาจขัดต่อความตกลง TRIPS แต่ถ้าไม่ห้ามก็อาจทำให้นักวิจัยในประเทศไม่ได้รับประโยชน์ กลายเป็นออก กม. เอื้อต่อบริษัทต่างชาติ จึงต้องรอความชัดเจน และปรึกษานักกฎหมายเพื่อให้ผลประโยชน์เกิดกับคนไทยในประเทศ ซึ่งช้าไปสัปดาห์เดียว จะทำให้รอบคอบมากขึ้น น่าจะดีกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น