xs
xsm
sm
md
lg

CHES หอบ 1.3 พันรายชื่อยื่น “บิ๊กตู่” หนุน กก.สภาฯต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่ม CHES ยื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่” พร้อมแนบ 1,360 รายชื่อ หนุนประกาศ ป.ป.ช.ให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัย-กรรมการสภาฯ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ชี้ มหา’ลัยเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ เกิดคอร์รัปชันได้ง่าย

วันนี้ (12 พ.ย.) ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์รัฐบาล นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES พร้อมคณะ ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอสนับสนุนประกาศของ ป.ป.ช. เรื่อง การยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหาร และกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง โดย นพ.สุุธีร์ กล่าวว่า จากการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, ที่ประชุมอธิการบดีทั่วประเทศ ได้ยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช.เพื่อขอให้ทบทวนประกาศ ป.ป.ช. เรื่อง การยื่นบัญชีทรัพย์สินของ นายกสภามหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยระบุว่า กรรมการสภาอนุมัติเพียงหลักสูตร ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างนั้น

นพ.สุธีร์ กล่าวต่อไปว่า CHES ซึ่งประกอบด้วย คณาจารย์และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ประชาคม และประชาชน รู้สึกกังวลใจต่อท่าทีดังกล่าว เพราะมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนเสาหลักของสังคม เป็นผู้ที่จะสร้างบรรทัดฐานแห่งความดีงามให้เกิดขึ้นกับสังคม แต่กลับเป็นผู้บ่ายเบี่ยงที่จะปฏิบัติตามกฎหมายเสียเอง เป็นการแสดงความเป็นอภิสิทธิ์ชนอยู่เหนือกฎหมาย และจะเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีงามต่อนิสิตนักศึกษาที่เฝ้าดูเรื่องราวอยู่ในขณะนี้ ทั้งนี้ CHES ได้นำรายชื่อบุคลากร จำนวน 1,360 ราย ที่สนับสนุนการยื่นบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ต่อนายกรัฐมนตรีด้วย

“เรื่องน่าประหลาดใจ แม้ว่ามหาวิทยาลัยจะออกนอกระบบไปแล้ว แต่ยังจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน มาให้เหมือนเดิม ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ได้ควบคุมอำนาจบริหารจัดการได้อย่างเบ็ดเสร็จในทุกระดับ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และ อำนาจตุลาการ อยู่ในมือของกลุ่มผู้บริหารระดับสูง กับผู้ทรงคุณวุฒิบางคนที่เป็นหัวเรือใหญ่เครือข่ายเดียวกันเท่านั้น ด้วยสภาพการณ์แบบนี้ จึงมีโอกาสจะเกิดการทุจริตทางนโยบายขึ้นได้ ส่วนในระดับหน่วยงานตาม คณะ สาขาวิชา ต่างๆ ผู้บริหารส่วนนี้ก็สามารถจะกระทำทุจริตคอร์รัปชัน เช่น ในการจัดซื้อจัดจ้าง และงานก่อสร้างต่างๆ ได้ง่ายมาก เพราะบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานล้วนเป็นพวกเดียวกันทั้งหมดนั่นเอง ถ้ามีการร้องเรียนขึ้นไป เรื่องก็เงียบ คนร้องเรียนจะอยู่ไม่ได้” นพ.สุธีร์ กล่าว

ผู้ประสานงาน CHES กล่าวอีกว่า และว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยจึงเป็นแหล่งผลประโยชน์ขนาดใหญ่ ที่สามารถจะทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างง่ายดาย เป็นแหล่งผลประโยชน์แหล่งใหญ่ที่สังคมภายนอกมองข้ามไป เพราะอาจจะเห็นว่าเป็นสถาบันการศึกษาระดับสูง เข้าทำนองคนมีการศึกษา จะไม่โกง ดังนั้น การที่ ป.ป.ช. ออกประกาศให้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และ กรรมการสภาฯทุกคน ยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สิน จึงอาจพอช่วยป้องปรามการทุจริตคอร์รัปชันได้ทางหนึ่ง ซึ่งความจริงยังต้องหามาตรการอื่นๆ เพิ่มอีกหลายมาตรการ แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว





กำลังโหลดความคิดเห็น