xs
xsm
sm
md
lg

เริ่มสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง 9 พ.ย.นี้ แนะ 6 เส้นทางเลี่ยงจราจร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กทม.ร่วม บช.น.ลงพื้นที่แจ้งประชาชน เริ่มก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง 9 พ.ย.นี้ ยันเปิดการจราจรตามปกติ แค่ปิดช่องจราจรบางส่วน และปรับตามความเหมาะสม แนะ 6 เส้นทางเลี่ยงการจราจร
 
วันนี้ (7 พ.ย.) นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) และ นายศักดิ์ชัย บุญมา ผู้อำนวยการสำนักการโยธา ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง พร้อมแจกแผ่นพับประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างสะพานฯ และเส้นทางเลี่ยงการจราจรระหว่างดำเนินการ ซึ่งการก่อสร้างสะพานดังกล่าวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายการจราจรในถนนวงแหวนรัชดาภิเษกและถนนสายหลัก แก้ไขปัญหาจุดตัดบริเวณวงแหวนรัชดาภิเษกและถนนสายหลัก ช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณแยกที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องถนนพระราม 3 และถนนเชื่อมต่อ

นายสมพงษ์ กล่าวว่า สะพานข้ามแยก ณ ระนอง จะก่อสร้างสะพานยกระดับ 4 ช่องจราจร 2 ทิศทาง ความยาว 1,950 ม. เริ่มจากบริเวณโรงเรียนนนทรีวิทยา ถนนพระรามที่ 3 ข้ามแยก ณ ระนอง เชื่อมต่อกับทางยกระดับข้ามทางแยกถนนพระราม 4 ที่มีอยู่เดิม พร้อมก่อสร้างสะพานข้ามถนนเชื้อเพลิง 2 ช่องจราจร ความยาว 770 ม. และก่อสร้างสะพานเลี้ยวขวาจากถนนพระราม 3 ข้ามแยก ณ ระนอง ในแนวถนนรัชดาภิเษก-สุนทรโกษา 2 ช่องจราจร ทิศทางเดียว ความยาว 600 ม. เริ่มต้นสัญญาวันที่ 26 ก.ย. 61 สิ้นสุดสัญญาวันที่ 13 มี.ค. 64 ระยะเวลาดำเนินการ 900 วัน หรือประมาณ 3 ปี แบ่งการดำเนินงานเป็น 4 โซน คือ โซนที่ 1 เริ่มจากจุดเริ่มต้นก่อสร้างสะพานยกระดับจากแยกนางลิ้นจี่ระยะทาง 700 เมตร เริ่มลงพื้นที่ดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 61 เป็นต้นไป โซนที่ 4 สะพานข้ามแยก ณ ระนองไปแยกศุลกากร เริ่มดำเนินการประมาณเดือน ธ.ค. 61 โซนที่ 2 สะพานข้ามถนนเชื้อเพลิงที่เชื่อมต่อจากโซนแรกระยะทาง 700 เมตร เริ่มดำเนินการประมาณต้นปี 62 และโซนที่ 3 สะพานข้ามแยก ณ ระนอง จะเริ่มดำเนินการประมาณกลางปี 62 เป็นต้นไป

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ขณะก่อสร้างจะไม่มีการปิดการจราจร แต่จะปิดบางช่องจราจรและปรับช่องจราจรให้สอดคล้องและสัมพันธ์กับการก่อสร้าง ทั้งนี้ ได้มีการติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบ พร้อมขอความร่วมมือประชาชนหลีกเลี่ยงเส้นทาง โดยจัดทำแผนเส้นทางเลี่ยงการจราจร ดังนี้

1. จากถนนพระราม 3 เข้าถนนเชื้อเพลิง จะมาตัดกับถนนพระราม 4 บริเวณแยกใต้ทางด่วนถนนพระราม 4

2.จากแยกใต้ทางด่วนถนนพระราม 4 เข้าซอยสุวรรณสวัสดิ์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยศรีบำเพ็ญตรงไปถนนเชื้อเพลิง 4 เลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าไปออกถนนเชื้อเพลิง

3. จากแยกใต้ทางด่วนถนนพระราม 4 เข้าซอยสุวรรณสวัสดิ์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยศรีบำเพ็ญ เลี้ยวขวาเข้าถนนเย็นอากาศมุ่งหน้าไปถนนนางลิ้นจี่ เลี้ยวขวาเข้าถนนจันทร์ออกถนนนราธิวาสราชนครินทร์

4. จากแยกใต้ทางด่วนถนนพระราม 4 เข้าซอยสุวรรณสวัสดิ์ เลี้ยวซ้ายเข้าซอยศรีบำเพ็ญ เลี้ยวขวาเข้าถนนเย็นอากาศมุ่งหน้าไปถนนนางลิ้นจี่ เลี้ยวซ้ายออกถนนรัชดาภิเษก

5. จากถนนซอยอมรมุ่งหน้าไปถนนจันทร์เก่า ออกถนนนราธิวาสราชนครินทร์

6. จากแยกนางลิ้นจี่ถนนพระราม 3 ไปวงแหวนอุตสาหกรรมเข้าถนนปู่เจ้าสมิงพราย เลี้ยวซ้ายเข้าถนน 3109 (ถนนทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ) มุ่งหน้าไปท่าเรือ 2

“เมื่อโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง แล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจราจร เสริมโครงข่ายถนนให้มีความสมบูรณ์ เป็นการแก้ไขปัญหาถนนที่มีลักษณะคอขวด ลดจุดตัดการจราจรถนนรัชดาภิเษกและถนนสายหลักต่อเนื่องไปยังบริเวณโดยรอบเพื่อให้การจราจรมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น" นายสมพงษ์ กล่าวและว่า นอกจากการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ณ ระนอง แล้ว กทม.ได้ดำเนินการโครงการทางลอดแยกรัชดา-ราชพฤกษ์ พร้อมๆ กับโครงการสะพานข้ามแยก ณ ระนอง ด้วย

พล.ต.ต.จิรสันต์ กล่าวว่า จุดที่อาจส่งผลกระทบหรือเกิดปัญหาการจราจรบ้าง คือ บริเวณเส้นถนนพระราม 4 ถนนพระราม 3 และถนนรัชดาฯ ซึ่งในการก่อสร้างขอให้กระทบกับผิวจราจรน้อยที่สุด และจัดเส้นทางเบี่ยงให้ประชาชน รวมถึงขอให้แนะนำทางเลียงต่างๆ ให้ประชาชนทราบ ซึ่งในการบริหารจัดการระบบจราจรช่วงที่มีการก่อสร้างนั้นจะเน้นดำเนินการช่วงเวลาเช้าและเย็นเป็นหลัก เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่จะมีการใช้รถใช้ถนน ซึ่งหากมีรถที่ต้องระบายจำนวนมากก็จะมีการเปิดช่องทางพิเศษให้รถวิ่ง ทั้งนี้ ปกติในแต่ละวันจะมีรถผ่านแยก ณ ระนอง ประมาณ 2 แสนคันต่อวัน ขณะนี้ยังไม่วิตกกังวลอะไรกับการจัดการจราจรในบริเวณดังกล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น