xs
xsm
sm
md
lg

ศมส.วปอ.จัดเวทีระดมสมอง หนุนทำมาตรฐาน “ร้านอาหาร” ดึงนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ สร้างรายได้ลงชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศมส.วปอ.จัดเวทีระดมสมอง หนุน “อุตสาหกรรมอาหาร” ส่งเสริมการท่องเที่ยว เล็งจัดทำมาตรฐานร้านอาหาร ตั้งแต่ระดับไฮคลาสถึงสตรีทฟู้ด หวังสร้างความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย ดึงดูดนักท่องเที่ยวมีกำลังซื้อสูงเข้าประเทศมากขึ้น กู้วิกฤตท่องเที่ยวไทยเริ่มซบเซา ชี้ ช่วยสร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

วันนี้ (6 พ.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่อาคารวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ดร.กนก อภิรดี ประธานกลุ่มยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจการท่องเที่ยว ชมรมศิษย์เก่าหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงชั้นสูง สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นประธานการประชุมเพื่อระดมสมองในการพัฒนาธุรกิจด้านอาหารการเพื่อท่องเที่ยวเชิงรุก โดยมี นายยงวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยภายในการประชุมได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการส่งเสริมสนับสนุนความเป็นไทยแท้ของรสชาติอาหารไทย ภายใต้แนวคิด ลูกค้าคือหัวใจ

ต่อมา เวลา 16.30 น. ดร.กนก ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า จากการประชุมในครั้งนี้ทำให้ทราบว่า มีโอกาสที่การท่องเที่ยวของประเทศไทยจะเริ่มถดถอย ซึ่งขณะนี้ก็เริ่มมีสัญญาณแล้ว คณะกรรมการสมาคมศิษย์เก่า (ศมส.) วปอ. หลักสูตรความมั่นคงชั้นสูง จึงตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยร่วมคิดและแสดงความคิดเห็น เพื่อนำเสนอต่อภาครัฐในวันข้างหน้า ว่า จะมีการเยียวยาและบรรเทาสถานการณ์นี้ ซึ่งเราคิดว่า รายได้จากการท่องเที่ยวนั้นไม่ใช่แค่มาจากสายการบิน การคมนาคมเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของอาหารที่เป็นปัจจัยสำคัญด้วย หากสามารถระดมความคิดเห็นเละเสนอให้รายได้จากการทำธุรกิจอาหารเพื่อการท่องเที่ยวสามารถที่จะมีอัตราที่สูงขึ้นได้ก็จะยังประโยชน์ต่อเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม

นายยงวุฒิ กล่าวว่า ผู้ประกอบการร้านอาหารในประเทศมีมากกว่า 1 แสนร้าน ในต่างประเทศมีมากกว่า 2 หมื่นร้าน ถือเป็นอุตสาหกรรมทางภาคบริการที่ใหญ่มาก สนับสนุนรายได้ให้แก่ประเทศไทยอย่างมาก ซึ่งจากการหารือก็เห็นตรงกันว่า จะต้องมีการพัฒนาผู้ประกอบการร้านอาหารให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และต้องรักษามาตรฐานการปรุงอาหารให้ได้รสชาติสม่ำเสมอ ตรงนี้จะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชมชน ดึงการท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในเมืองรองที่ประเทศไทยต้องการอย่างมาก จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งขึ้นมาได้

นายยงวุฒิ กล่าวว่า สำหรับมาตรฐานร้านอาหารหลักๆ ก็จะเป็นเรื่องของความปลอดภัย ตั้งแต่ระดับวัตถุดิบ การจัดเก็บวัตถุดิบ ผู้ปรุงประกอบอาหาร ภาชนะต่างๆ การปรุงอาหาร ลักษณะของร้านอาหาร พนักงานเสิร์ฟอาหาร ไปจนถึงการจัดการขยะ บ่อดักไขมันต่างๆ นอกจากนี้ ยังต้องมีมาตรฐานเรื่องของคุณภาพอาหาร คุณภาพการบริการต่างๆ ด้วย ซึ่งระดับของมาตรฐานอาจจะต้องมีหลายระดับ เพราะร้านอาหารในประเทศไทยก็มีตั้งแต่ระดับภัตตาคาร ร้านอาหาร สวนอาหาร ไปจนถึงร้านอาหารข้างทางหรือสตรีทฟู้ด ก็อาจจะต้องมีระดับของมาตรฐานตั้งแจ่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูง ซึ่งหลังจากนี้อาจจะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงสาธารณสุข หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในการออกมาตรฐานร้านอาหารมาบังคับใช้ แต่ประเด็นสำคัญต้องให้เวลาร้านอาหารเหล่านี้ปรับตัวด้วย เพราะการทำมาตรฐานเป็นเรื่องของการลงทุน โดยสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ส่งเสริมผู้ประกอบการ ก็อาจจะช่วยเหลือโดยการเปิดโครงการให้เข้าร่วมในการยกระดับมาตรฐานร้านอาหารขึ้น ซึ่งการยกระดับมาตรฐานจะช่วยให้พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารให้เติบโตขึ้น สร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น

“อุตสาหกรรมอาหารถือเป็นเรื่องความมั่นคงของประเทศ เพราะต้นทุนที่เป็นวัตถุดิบในการทำอุตสาหกรรมอาหารก็ถึงกว่า 80% และวัตถุดิบเป็นวัตถุดิบท้องถิ่น วัตถุดิบในประเทศมากถึง 90% ถ้าอุตสาหกรรมอาหารเติบโตแสดงว่าภาคการเกษตรก็เติบโตด้วย เป็นหัวใจสำคัญ แค่ช่วยพัฒนาด้านนี้ก็ส่งผลผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเติบโตได้ อุตสาหกรรมอาหารนอกจากภาคการผลิตแล้วยังรวมถึงภาคบริการด้วย เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมทั้งหมดในประเทศแล้ว อุตสาหกรรมอาหารมีสัดส่วนของ GDP สูงที่สุดถึงเกือบ 23%” นายยงวุฒิ กล่าว

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า ร้านอาหารในประเทศไทยมีส่วนส่งเสริมการท่องเที่ยวและรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมาก โดยร้านอาหารมีมากกว่า 4 แสนราย มูลค่าการตลาดของร้านอาหารมีมากกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่หลักๆ จะมาจากกลุ่มร้านอาหารตั้งแต่ระดับสวนอาหาร ภัตตาคาร ห้องอาหารในโรงแรม ซึ่งมีประมาณ 1 แสนราย แต่สร้างรายได้มากถึง 7-8 แสนล้านบาท ขณะที่กลุ่มหาบเร่แผงลอยหรือสตรีทฟู้ดที่มีมากกว่า 3 แสนราย สร้างรายได้รวมประมาณ 3 แสนล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น การทำมาตรฐานร้านอาหารให้ดี น่าเชื่อถือ ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย คุณภาพอาหาร คุณภาพบริการ รวมไปถึงการยกระดับในการทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพหรือ Healthy Food ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ระดับโลก จะยิ่งสร้างมูลค่าให้เพิ่มขึ้น

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า เราต้องการให้นักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงหรือมีกำลังซื้อสูงเข้ามาในประเทศมากขึ้น เพราะจริงๆ แล้วการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก แต่มีกำลังการซื้อต่ำ อยู่ไม่กี่วัน ค่าใช้จ่ายแต่ละวันก็ไม่มาก แต่ต้องมาใช้ทรัพยากรในประเทศก็อาจไม่คุ้มกัน จึงต้องทำมาตรฐานให้ดีขึ้นเป็นที่ยอมรับ จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อให้เข้ามาอยู่ในประเทศนานขึ้น ตรงนี้จะยิ่งสร้างรายได้ให้แก่ประเทศมากขึ้น สำหรับการยกระดับมาตรฐานของร้านอาหารในประเทศไทย ทางสมาคมภัตตาคารก็พร้อมสนับสนุน ซึ่งเราก็ดำเนินการมาสักระยะแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการช่วยเหลือด้านการจัดหาแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพให้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหารระดับเอสเอ็มอีที่อาจจะมีฝีมือการปรุงดี แต่อาจขาดเรื่องของวัตถุดิบที่มีคุณภาพ เป็นต้น




กำลังโหลดความคิดเห็น