xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเยาวชน จี้เพิ่มโทษหลังเด้ง 5 เสือหนองแค ปล่อยเด็กมั่วสุมเสพยาคืนฮาโลวีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครือข่ายเยาวชนฯ จี้เพิ่มบทลงโทษ 5 เสือหนองแค ปล่อยเด็กต่ำกว่า 20 ปี เข้ามั่วสุมสถานบันเทิง เสพยารวมกว่า 131 ราย ชี้ แค่เด้งไปช่วยราชการไม่เพียงพอ เหตุพ่อแม่เคยร้องเรียนหลายครั้ง สะท้อนไม่เอาจริงบังคบัใช้กฎหมาย

จากกรณี พล.ต.ต.อำพล บัวรับพร รักษาราชการผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เซ็นคำสั่งย้าย 5 เสือ สถานีตำรวจภูธรหนองแค หลังชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง บุกจับสถานบันเทิง ชื่อ “หลังเขา” หรือ Back Moutain จ.สระบุรี หลังสืบพบเป็นแหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น จัดงานคืนวันฮาโลวีน 31 ต.ค. โดยปล่อยให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าใช้บริการกว่า 128 คน ตรวจปัสสาวะนักเที่ยวทั้งหมด พบเป็นสีม่วง 131 คน และพบยาเสพติดและอุปกรณ์การเสพหลายชนิด

วันนี้ (3 พ.ย.) นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ต้องชื่นชมชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง ซึ่งร่วมกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม และฝ่ายปกครองจังหวัดสระบุรี ที่เข้าปิดล้อมตรวจค้น ผับดังกล่าวและพบว่ามีการกระทำความผิดร้ายแรง ทั้งปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเข้าใช้บริการ รวมถึงการตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาต การจำหน่ายสุราเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด การจัดโปรโมชันส่งเสริมการขาย และความผิดตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก แม้ปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับควบคุมสถานบันเทิง หรือสถานประกอบการ โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 แต่ยังพบการฝ่าฝืน ทำผิดกฎหมายซ้ำซาก ไม่เกรงกลัวในกฎหมาย ยิ่งถ้าหากพื้นที่ไหนที่เจ้าหน้าที่ไม่เอาจริงเอาจัง ปัญหายิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

“การเซ็นคำสั่งย้าย 5 เสือ สถานีตำรวจภูธรหนองแค ประกอบด้วย พ.ต.อ.ฉัฐวัชร วงศ์วาสน์ ผู้กำกับการสถานี พ.ต.ท.สราวุฒิ ทองภู่ รองผู้กำกับการป้องกันและปราบปราม พ.ต.ท.เหมราช รุ่งโรจน์ รองผู้กำกับการสืบสวน พ.ต.ท.พงษ์ปกรณ์ พิพัฒนสมพร สารวัตรป้องกันและปราบปราม พ.ต.ต.ธนวัฒน์ ไชยสงเมือง สารวัตรสืบสวน โดยมีคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 แล้ว แต่คำถามสำคัญที่คิดว่าสังคมอยากรู้ คือ แค่สั่งย้ายเท่านั้นหรือ ควรมีการเพิ่มบทลงโทษอย่างอื่นอีกหรือไม่ แล้วที่ผ่านมาปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมไม่เข้าไปจัดการแก้ไขปัญหา” นายธีรภัทร์ กล่าว

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ทราบว่าประชาชนเคยร้องเรียนไปหลายหน่วยงานแต่ไม่เป็นผล จนพ่อแม่ ผู้ปกครอง สถานศึกษา รวมทั้งสื่อมวลชน ต้องร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมกระทรวงมหาดไทย ให้ชุดปฏิบัติการพิเศษกรมการปกครอง เข้าจัดการในที่สุด นี่จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่หน่วยงานจากส่วนกลางต้องลงไปดำเนินการเอง และปัญหาแบบนี้จะไม่หมดไปหากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ไม่เอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมาย

นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ กล่าวว่า คำสั่ง คสช. ที่ 22/2558 ที่กำหนดพื้นที่โซนนิ่งควบคุมร้านเหล้า ถือเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ในความเป็นจริง พบข่าวการบุกจับกุมสถานบริการ ร้านเหล้าผับบาร์ต่างๆ ที่ทำความผิด ทั้งขายให้เด็ก ปล่อยให้เด็กเข้าไป เปิดเกินเวลาที่กำหนด เสียงดัง และอื่นๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ผลการดำเนินการหลังจากที่เป็นข่าวไปแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วต้องใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการสั่งปิด หรือมีมาตรการอื่นๆ

“ไทยมีกฎหมายหลายฉบับที่สามารถให้ยาแรงกับปัญหานี้ได้ แต่มักจะไม่หยิบมาใช้กัน หรือใช้เพียงสถานเบา ทำให้ไม่หลาบจำ บางแห่งสั่งปิดไปแล้วยังแอบเปิดได้อีก ทั้งที่กฎหมายเขียนไว้ชัด แต่ปรากฏการณ์หรี่ตาข้างนึง ลูบหน้าปะจมูก มักจะเกิดขึนเสมอในสังคมไทย จึงเห็นร้านเหล้าพวกนี้ทำผิด ท้าทายกฏหมายอย่างต่อเนื่อง ในยุค คสช.ที่มีการออกคำสั่งตามาตรา 44 เพื่อจัดการปัญหานี้โดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธฺิ์ เด็ดขาด เพราะทั่วโลกไม่มีใครเขายอมให้สถานประกอบการเหล่านี้หากินกับเด็ก เยาวชนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ทุกประเทศมีกฏกติกาชัดเจนในการปกป้องลูกหลาน จึงจำเป็นต้องทำให้เกิดความคิดความเชื่อร่วมกันปกป้องเด็กเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ช่วยกันเป็นหูเป็นตาอย่ายอมให้เกิดปรากฏการณ์ผู้ใหญ่หากินกับเด็ก โดยที่ไม่ทำอะไรกันเลย กรณีนี้ต้องขอขอบคุณฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทยที่ร่วมปกป้องลูกหลานของเรา” นายชูวิทย์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น