xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายเยาวชนฯจี้ พม.เอาผิด “พ่อให้ลูกซดเบียร์โพสต์โชว์โซเชียล”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เครือข่ายเยาวชนฯ นำหลักฐาน จี้ พม.งัด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เอาผิดพ่อให้ลูกซดเบียร์ลงโซเชียล ชี้ งานวิจัยระบุดื่มในวัยเด็กเป็นเหตุติดสุรา ทำลายสมองรุนแรง หวั่นพฤติกรรมเลียนแบบอ้างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ระบาด พร้อมขอให้ พม. จัดกลไกเยียวยาเด็กและครอบครัว

วันนี้ (19 ต.ค.) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวันชัย พูลช่วยผู้ประสานงานเครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน  พร้อมด้วย นางสาวปาลิณี ต่างสี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และกลุ่มเยาวชนจากหลากหลายสถาบันการศึกษา กว่า 30 คน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ดร.สมคิด สมศรี อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) พม.ขอให้ตรวจสอบการกระทำความผิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กพ.ศ.2546 กรณีพ่อโพสต์ภาพลูกชาย 4 ขวบ กำลังดื่มเบียร์ซึ่งมีเสียงวิพากษ์ วิจารณ์อย่างหนักในสังคมออนไลน์ถึงพฤติกรรมดังกล่าวว่าไม่เหมาะสม โดยมี นายอนุกูล ปีดแก้ว รองอธิบดี ดย.รับเรื่อง

นายวันชัย กล่าวว่า จากกรณีมีการแชร์ภาพจากเฟซบุ๊กของหนุ่มรายหนึ่ง ที่มีการโพสต์ภาพเด็กชายวัย4 ขวบกำลังดื่มเบียร์จากกระป๋อง และดื่มเหล้าจากแก้วหลายภาพ พร้อมเขียนแคปชั่น ว่า “ได้เพื่อนเมาแล้ว ขาประจำไม่เคยทิ้งกัน แล้วแต่ชอบไม่ชอบก็เรื่องของคุณ” และข้อความว่า “ซ้อมไว้โตขึ้นจะได้เหมือนพ่อ หม่าที่ทำพรือมีลูกเด็กชายๆ วลีนี้มีรุ่นน้องกล่าวไว้ 2 คน ก็ได้ครับเท่านี้ก็โอเคแล้ว” พฤติกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่ายมีความผิดตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 ที่บัญญัติไว้ ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้ (3) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความ ประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด (10) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุรา หรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์ และ มาตรา 27 ที่บัญญัติไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณา หรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็กหรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

“ปรากฏการณ์คึกคะนองเอาลูกมานั่งดื่มเหล้าเบียร์ และมีการนำมาสื่อสารผ่านโลกออนไลน์แบบนี้ เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในปีนี้ โดยท้ายที่สุดผู้ก่อเหตุมักจะอ้างว่าเป็นน้ำชาบ้าง น้ำหวาน น้ำผลไม้บ้าง ในครั้งนี้ก็เช่นกัน แต่แม้ผู้เป็นพ่อจะอ้างว่าเป็นน้ำหวานที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ ก็ต้องพิสูจน์กันให้ชัดเจนตามกระบวนการ และต้องดูอีกว่าผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วยหรือไม่ เรื่องนี้อยากให้ผิดว่าไปตามผิด อย่ามองเป็นเรื่องเล็กน้อยที่จบลงแค่คำขอโทษ หรืออ้างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งนี้ พม.เองก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องเร่งหาแนวทางการทำงานที่รอบด้าน มีการดูแลเยียวยาเด็กที่ชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำ และควรทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น ไม่ต้องรอให้ใครมาร้องเรียนก่อนถึงจะดำเนินการ บางเรื่องเป็นข่าวใหญ่โตก็ควรมีปฏิบัติการที่ทันท่วงที” นายวันชัย กล่าว

ด้าน น.ส.ปาลิณี กล่าวว่า เครือข่ายฯ มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่อาจถูกทำให้มีทัศนคติ ความเชื่อที่ผิดๆ มีความเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะงานวิจัยระบุว่า ถ้าสอนให้เด็กดื่มตั้งแต่อายุน้อย มีแนวโน้มโตขึ้นจะติดสุรา หรือดื่มอย่างมีปัญหาได้ ที่สำคัญ แอลกอฮอล์ยังมีฤทธิ์ทำลายสมองของเด็กอย่างรุนแรง จากพฤติกรรมของผู้เป็นพ่อ ตลอดจนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างแพร่หลายทางสื่อสังคมออนไลน์ ทางเครือข่ายฯ มีข้อเสนอต่อกรม ดย.ซึ่งเป็นองค์กรหลัก รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ดังนี้ 1. ตรวจสอบการกระทำดังกล่าว และเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ และกฎหมายอื่นเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่าง หยุดกล่าวอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งจะเป็นการปกป้องคุ้มครองเด็กตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย 2. เร่งส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ ร่วมกับสหวิชาชีพ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย ในการเข้าไปเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจของเด็กและครอบครัว เพื่อประเมินตามหลักวิชาชีพ โดยยึดประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นตัวตั้ง และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ยุติการส่งต่อหรือเผยแพร่ คลิปหรือภาพเด็กในลักษณะดังกล่าว รวมถึงภาพที่ไม่เหมาะสม ซึ่งมีความผิดตามกฎหมายฉบับนี้ด้วย และ 3.ขอเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวัง แจ้งเหตุ ป้องกันมิให้เด็กถูกคุกคาม ละเมิดสิทธิ หรือยุยงส่งเสริมให้มีพฤติกรรมเสี่ยง ร่วมสร้างสังคมที่ปลอดภัยให้เด็ก

ขณะที่ นายอนุกูล  กล่าวว่า การกระทำที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของผู้ปกครองตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก ซึ่งขณะนี้พม.ได้ส่งทีมเข้าไปดูแลเด็กแล้ว แต่สิ่งที่อยากให้สังคมรับรู้คือ เมื่อผู้ปกครองไม่มีความสามารถในการดูแลเด็ก มีข้อจำกัดในการดูแลลูก จึงอยากให้สังคมชุมชนเข้ามามีบทบาท เฝ้าระวังเป็นหูเป็นตา ดูแลเด็กร่วมกัน รวมถึงอยากให้ตระหนักถึงกฎหมายคุ้มครองเด็ก โดยเฉพาะเรื่องควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ตามมามากมาย ทั้งนี้พม.จะเร่งทำความเข้าใจ วางมาตรการเพื่อกำชับสื่อสารไปยังเครือข่าย หน่วยงานต่างๆ ให้ตระหนักในเรื่องนี้มากขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น