xs
xsm
sm
md
lg

เข้าป่ากางเต็นท์สัมผัสอากาศหนาว ระวัง “ตัวไรอ่อน” เสี่ยงโรคไข้รากสาดใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมควบคุมโรค เตือนเข้าป่ากางเต็นท์สัมผัสอากาศหนาว ระวัง “ตัวไรอ่อน” เสี่ยงป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่ เผย ปี 61 พบป่วยมากกว่า 7 พันราย พบสูงสุดในภาคเหนือ แนะสวมเสื้อปิดคอ แขนยาว ขายาว ส่วนอยู่นอกร่มผ้าให้ทายากันแมลงกัด

วันนี้ (18 ต.ค.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ช่วงนี้เข้าสู่ต้นฤดูหนาว สภาพอากาศในหลายพื้นที่มีความหนาวเย็น โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง และป่าไม้ ประชาชนทั้งเด็กและผู้ใหญ่นิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเพื่อรับลมหนาวและกางเต็นท์นอนในป่า ซึ่งนักท่องเที่ยวจะมากขึ้นในช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ อาจถูก “ตัวไรอ่อน” กัดได้ เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ จากข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 14 ตุลาคม 2561 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่ 7,192 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ภาคที่มีอัตราการป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ มีอัตราการป่วยสูงสุด รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ แม่ฮ่องสอน ตาก น่าน เชียงราย เชียงใหม่ ตามลำดับ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า “โรคไข้รากสาดใหญ่” หรือ “โรคสครับไทฟัส” (Scrub typhus)  เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ซึ่งมีตัวไรอ่อนเป็นพาหะ ติดต่อทางบาดแผลที่ถูกตัวไรอ่อนกัด ไรอ่อนจะอาศัยอยู่ตามใบไม้ ใบหญ้า ใกล้กับพื้นดิน ไรอ่อนจะกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าของคนและกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้า ปกติเราจะมองไม่เห็นตัวไรอ่อน เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ส่วนใหญ่คนจะถูกกัดบริเวณรักแร้ ขาหนีบ รอบเอว หลังถูกไรอ่อนกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีอาการปวดศีรษะที่ขมับและหน้าผาก มีไข้สูงตลอดเวลา หนาวสั่น ตาแดงคลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดเป็นแผลบุ๋มสีดำคล้ายรอยไหม้จากบุหรี่จี้ (Eschar) พบผื่นแดงตามร่างกายและแขนขา แต่จะไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ อาจทำให้เสียชีวิตได้

คำแนะนำสำหรับประชาชนที่เดินทางท่องเที่ยวตั้งแคมป์ กางเต็นท์นอนในป่า ควรกางบริเวณโล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบนพื้นหญ้า บริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าที่ขึ้นรก คือ ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว และทาโลชั่นกันยุงที่มีส่วนผสมของสาร DEET หรือใช้สมุนไพรทากันยุง ซึ่งสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้ นอกจากนี้ หลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่ หรือตั้งรกรากใหม่ ทุ่งหญ้า ชายป่า หรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง หลังออกจากป่าให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาด ด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะอาจมีตัวไรอ่อนติดมากับร่างกายหรือเสื้อผ้าได้ หากมีอาการไข้และอาการข้างต้น ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422


กำลังโหลดความคิดเห็น