xs
xsm
sm
md
lg

พม.แจง “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ไม่มีให้เพิ่ม 100 บาท เว้นกลุ่มลงทะเบียนบัตรคนจน ได้เพิ่ม 50-100 บาท ตามรายได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พม. แจงจ่าย “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” ตามเดิม ไม่มีการเพิ่ม 100 บาท แต่หากเป็นผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนบัตรคนจน จะได้รับเพิ่มตามอัตรา 50-100 บาท

วันนี้ (11 ต.ค.) นางไพรวรรณ พลวัน อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แถลงข่าวการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และโครงการ Flagship 2 : การให้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ว่า จากกรณีที่มีการส่งข้อความเรื่องการอนุมัติเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเพิ่มคนละ 100 บาท กรมฯ ขอชี้แจงว่า การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มาลงทะเบียนผู้สูงอายุ โดยจะจ่ายเข้าบัญชีธนาคารตามปกติ ซึ่งปัจจุบันการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังคงเป็นการจ่ายแบบขั้นบันได ดังนี้ ผู้สูงอายุ 60-69 ปี รับเบี้ย 600 บาทต่อเดือน อายุ 70-79 ปี รับเบี้ย 700 บาทต่อเดือน อายุ 80-89 ปี รับเบี้ย 800 บาทต่อเดือน และอายุ 90 ปีขึ้นไป รับเบี้ย 1,000 บาทต่อเดือน

นางไพรวรรณ กล่าวว่า และ 2. การจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน จะได้รับเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในอัตรา 50 บาทต่อคนต่อเดือน ในผู้สูงอายุที่มีรายได้มากกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี และจะได้รับเพิ่มอีก 100 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับผู้สุงอายุที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ดังนั้น ที่ได้รับเพิ่มจากโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จึงไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนที่จะได้รับ ทั้งนี้ การจ่ายเงินลงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มจ่ายตั้งแต่ ก.ค.2561 ถึง มี.ค. 2562 โดยงวดแรกจ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในวันที่ 15 ส.ค. 2561 ผู้มีสิทธิสามารถถอนเงินที่โอนเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นเงินสดได้ผ่านตู้ ATM ของธนาคารกรุงไทย และสาขาของธนาคารกรุงไทย ทั่วประเทศ

นางไพรวรรณ กล่าวว่า สำหรับ โครงการสำคัญตามยุทธศาสตร์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พ.ศ.2560-2564 โครงการ Flagship 2 : การให้เพื่อชีวิตที่ดีกว่า ได้มีการจัดทำหนังสือต่อกรมสรรพากร เรื่อง ขอเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมรายชื่อหน่วยงานของ พม. ที่สามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ ซึ่งกรมสรรพากรได้ประกาศหน่วยรับบริจาค พม. ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่า ทางเว็บไซด์ http://www.rd.go.th/publish เรียบร้อยแล้ว เป็นจำนวน 171 หน่วยงาน ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถร่วมบริจาคตามช่องทาง ดังนี้ 1) ศูนย์รับบริจาคกระทรวง พม. ณ บริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี โทร. 02-306-8874 ต่อ 5 หรือหน่วยงานในสังกัดกระทรวง พม. ทั่วประเทศ 2) โอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ชื่อบัญชี “ศูนย์รับบริจาคกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” สาขาสะพานขาว เลขที่บัญชี 021-0-21170-9 3) บริจาคเงินผ่านการสแกน Krungthai QR Code ในระบบ E-Banking และ 4) บริจาคผ่านแอปพลิเคชัน True Money Wallet


กำลังโหลดความคิดเห็น