xs
xsm
sm
md
lg

“หมอธีระวัฒน์” ค้านขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง หวั่นเปิดช่องทิ้งหมาแมว เสี่ยง “พิษสุนัขบ้า” ระบาดหนักขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หมอธีระวัฒน์” ค้านออกกฎหมายขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ชี้ไทยยังไม่ถึงเวลา หวั่นเปิดช่องคนทิ้งสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ทำโรคพิษสุนัขบ้าระบาดเพิ่ม ย้ำ ต้องใช้มาตรการทำหมัน-ฉีดวัคซีน ให้ดีที่สุดก่อน

จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... โดยสาระสำคัญ คือ การให้ทะเบียนสัตว์เลี้ยง และจ่ายค่าตีทะเบียน 450 บาท เป็นค่าร้องขอขึ้นทะเบียน 50 บาท ค่าสมุดประจำตัวสัตว์ 100 บาท และค่าเครื่องหมายประจำตัวสัตว์อีก 300 บาท โดยจะให้ท้องถิ่นไปออกกฎระเบียบ

วันนี้ (11 ต.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคพิษสุนัขบ้า กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงในเวลานี้ เพราะประเทสไทยยังไม่มีความพร้อม เนื่องจากปัจจุบันเราอาศัยความร่วมมืของประชาชนที่มีความการุณสัตว์ เลี้ยงสุนัขและแมวจำนวนมากๆ หลายพื้นที่มีคนเลี้ยงเป็นสิบตัว แต่ปล่อยให้เดินอิสระ หากมีการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยงจริง และให้ขึ้นทะเบียน 450 บาทต่อตัว จะยิ่งสร้างปัญหา เป็นภาระ และเกิดการทิ้งสัตว์เลี้ยงมากขึ้น สุดท้ายสัตว์เหล่านี้จะไร้คนดูแล อดอยาก และเข้าไม่ถึงป้องกันการคุมกำเนิด หมาจะดุร้ายมากขึ้น โอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สูงขึ้น และเสี่ยงที่จะกัดคน กัดเด็กมากกว่าเดิม

“ตอนนี้ต้องดำเนินการเรื่องการฉีดวัคซีนและทำหมัน เพื่อควบคุมประชากรสุนัขแมวให้ได้มากที่สุด ทำให้ได้ดี และมีประสิทธิภาพจริงๆ เพราะทุกวันนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ซึ่งที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำดีแล้วหรือไม่ มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ คนที่จะออกกฎหมายคิดดีแล้วหรือไม่ หรือไม่คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คนออกกฎหมายไม่เข้าใจสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยหรืออย่างไร หากออกจริงและเกิดปัญหาต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ จะทำแบบเมืองนอกไม่ได้ อย่างบางประเทศใช้วิธีฆ่าหมาแมวไม่มีเจ้าของ และค่อยออกกฎหมายขึ้นทะเบียนควบคุม แต่ประเทศไทย ทำไม่ได้ เราก็ต้องใช้วิธีควบคุมประชากรด้วยการทำหมันและฉีดวัคซีน อาศัยความร่วมมือกับประชาชน ไม่ใช่มาออกกฎหมายแบบไม่คิดผลกระทบเช่นนี้ ส่วนเรื่องการฝังชิปสุนัขแมวนั้น ไม่ต้องทำ ทำมานานก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข ระบุสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2560) มีผู้เสียชีวิต 7, 5, 5, 14 และ 11 ราย ตามลำดับ ส่วนในปี 2561 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-10 กันยายน 2561 มีรายงานผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 16 ราย จาก 14 จังหวัด (จากบุรีรัมย์ และระยอง จังหวัดละ 2 ราย สุรินทร์ สงขลา ตรัง นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ พัทลุง หนองคาย ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ตาก และ สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 1 ราย) สัตว์นำโรคจากสุนัข 15 ราย แมว 1 ราย เป็นสัตว์มีเจ้าของถึงร้อยละ 60 โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และมากกว่าร้อยละ 90 ไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งถูกสุนัขที่ตนเองเลี้ยง กัด ข่วน และคิดว่าไม่เป็นไรทำให้ไม่เข้ารับการรักษา


กำลังโหลดความคิดเห็น