xs
xsm
sm
md
lg

เปิดร่าง กม.รีดภาษี “บุหรี่” โปะบัตรทอง เติมเงินแค่ไหนก็ไม่พอ - ไม่ยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

เตรียมรีดภาษี “บุหรี่” กันอีกหนึ่งรอบ กับการนำไปช่วยกองทุนระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง งานนี้เลยมีทั้งคนคัดค้านและคนสนับสนุน

สำหรับกลุ่มคนคัดค้าน โดยเฉพาะชาวไร่ยาสูบ มองว่า เป็นการซ้ำเติมปัญหาการขายใบยาสูบไม่ได้ เนื่องจากที่ผ่านมามีการขึ้นภาษีบุหรี่ตลอด ส่งผลให้การยาสูบฯ ตัดโควตาซื้อใบยาสูบจากราว 24 ล้านกิโลกรัม เหลือเพียง 12 ล้านกิโลกรัม ที่สำคัญในปี 2562 ก็จะมีการปรับภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นอีก หลังจากที่ออก พ.ร.บ. สรรพสามิต พ.ศ. 2560 โดยปรับวิธีการเก็บภาษีเป็นวิธีผสม ทั้งคิดตามอัตรามูลค่าและปริมาณ โดยเฉพาะการคิดตามมูลค่าที่ ก.ย. 2562 จะเก็บบุหรี่ซองราคาต่ำกว่า 60 บาท จาก 20% เป็น 40%

ขณะที่ฝั่งด้านสาธารณสุขย่อมเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะการขึ้นภาษีทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้น จะส่งผลให้คนสูบบุหรี่น้อยลง และยังมีเงินเพิ่มขึ้นในการนำไปช่วยกองทุนบัตรทองในการดูแลรักษาพยาบาลคนป่วย ซึ่งปัจจุบันก็ประสบปัญหาไม่เพียงพอ

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการผลักดันร่างกฎหมาย คือ ร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยงานภาครัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างการกระทรวงการคลังและกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

โดยรายละเอียดสำคัญของร่างกฎหมายดังกล่าว ดังนี้ 1.มาตรา 5 กำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีอำนาจจัดเก็บเงินสมทบจากยาสูบ ในอัตรามวนละ 10 สตางค์ ให้ผู้บริโภคมีหน้าที่เป็นผู้ชำระเงินสมทบ และให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตยาสูบหรือผู้นำเข้ายาสูบ เป็นผู้ดำเนินการเก็บเงินสมทบ

2.มาตรา 6 กำหนดให้กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรเป็นผู้ดำเนินการจัดเก็บเงินสมทบตามมาตรา 5 แทน สปสช.จากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยาสูบ พร้อมกับชำระภาษีตามระเบียบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด โดยให้กรมที่จัดเก็บหักค่าใช้จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 1.5 ของเงินสมทบที่เก็บได้ และให้นำส่งเงินสมทบเข้ากองทุนตามมาตรา 39(8) ของกฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยไม่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีงบประมาณ

3.มาตรา 7 กำหนดให้ สปสช.จัดสรรเงินที่ได้รับให้หน่วยบริการภาครัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการบริการสาธารณสุข รวมทั้งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นต่อการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขและค่าใช้จ่ายอื่น

4.มาตรา 8 กรณีอุตสาหกรรมยาสูบไม่เรียกเก็บเงินสมทบหรือส่งเงินสมทบภายหลังเวลาที่กำหนด หรือไม่ครบตามจำนวนที่ต้องส่ง ให้เสียเงินสมทบเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนของจำนวนเงินที่ไม่เรียกเก็บหรือส่งภายหลังกำหนดหรือเงินที่ขาดไป แต่ไม่ให้เกินจำนวนเงินสมทบ

5.มาตรา 9 หากมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ส่งเงินสมทบ หรือส่งไม่ครบตามจำนวน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5-20 เท่าของเงินสมทบที่จะต้องนำส่ง หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากรายละเอียดดังกล่าวเห็นความชัดเจนว่า สปสช.สามารถเก็บภาษีบุหรี่ได้ โดยผ่านทางกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร และจัดสรรงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการ ซึ่งไม่จำกัดแค่เรื่องการรักษาพยาบาล เพราะยังครอบคลุมถึงการส่งเสริมสุขภาพ และอื่นๆ ที่จำเป็นต่อการบริการสาธารณสุข อาจตีความได้ว่า เปิดช่องไว้พอสมควรในการนำงบประมาณไปใช้ได้ เช่น ค่ายา ค่าตอบแทนบุคลากร ค่าจัดซื้อจัดจ้าง ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือแม้แต่อาคาร ก็น่าจะสามารถนำไปใช้ได้

แต่จากร่างกฎหมายดังกล่าว กลับระบุแค่เพียงเรื่องของยาสูบเท่านั้น ทำให้เป็นไปตามข้อสงสัยของสังคมว่า เหตุใดจึงไม่เรียกเก็บภาษีบาป พวกสุรา เบียร์ ด้วย แม้จะมีกระแสว่าในอนาคตอาจมีการขยายเก็บเพิ่มจากสินค้าบาปอย่างอื่น แต่ก็ต้องมาแก้กฎหมายใหม่อีกหรือไม่ เพราะกฎหมายแม่ฉบับนี้ไม่ได้พูดถึงเลย และไม่ได้พูดถึงการเปิดช่องให้ออกกฎหมายลูกด้วย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือ การเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มมวนละ 10 สตางค์ หรือตกซองละ 2 บาท หรือประมาณ 3-4 พันล้านบาทนั้น จะเกิดประโยชน์มากน้อยแค่ไหนต่อระบบสาธารณสุข

เรื่องนี้ พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ให้ความเห็นว่า การเก็บภาษีบุหรี่เพื่อมาช่วยเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนั้น เป็นประโยชน์แน่นอน แต่ที่ต้องคำนึง คือ แม้จะเก็บภาษีเพิ่มเท่าไรก็ยังไม่เพียงพอ และไม่คุ้มค่ากับความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากภาระโรคจากบุหรี่อยู่ดี ทั้งนี้ มีงานวิจัยโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ที่ทำไว้เมื่อปี 2552 พบว่า ข้อมูลอัตราความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากการสูบบุหรี่มีมากถึง 7 หมื่นกว่าล้านบาท จำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาพยาบาล ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมประมาณ 15-20% ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ ทั้งความสูญเสียรายได้จากการเจ็บป่วย และค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่างๆ ขณะที่การจัดเก็บภาษีบุหรี่ในปีดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ถือว่ามีส่วนต่างกันเป็นจำนวนมาก

พญ.เริงฤดี กล่าวว่า ส่วนตนได้ศึกษาวิจัยเมื่อปี 2559 เฉพาะส่วนของค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่ของผู้ป่วยในเท่านั้น พบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นผู้ป่วยในระบบบัตรทอง เท่ากับว่าเสียค่าใช้จ่ายราว 1 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งหากประมาณการณ์โดยอ้างอิงข้อมูลเมื่อปี 2552 ค่าใช้จ่ายเฉพาะผู้ป่วยในอยู่ที่ราว 10% ดังนั้น ในปี 2559 ความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดที่เกิดจากบุหรี่น่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท ขณะที่ภาษีที่เก็บจากบุหรี่ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น ดังนั้น แม้จะเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มซองละ 2 บาท หรือประมาณ 3-4 พันล้านบาทต่อปี ก็ยังไม่คุ้มค่าหรือไม่เพียงพอ เพราะเมื่อเกิดโรคจากบุหรี่ ส่วนใหญ่เป็นโรคเรื้อรัง รักษาไม่หาย แบ่งเป็น 3 กลุ่มโรค คือ มะเร็ง หัวใจและหลอดเลือด และระบบทางเดินหายใจ ก็จำเป็นที่จะต้องรักษาไปตลอด

หากคำนวณค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยที่เกิดจากบุหรี่ต่อครั้ง โดยค่าใช้จ่ายส่วนผู้ป่วยในทั้งหมดอยู่ที่ 2.5 หมื่นล้านบาท จำนวนที่นอนรักษาจากบุหรี่อยู่ที่ 6 แสนกว่าครั้ง ก็ตกอยู่ที่ประมาณ 46,666 บาทต่อครั้ง ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการสูบบุหรี่ ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจเมื่อปี 2560 พบว่า ผู้สูบบุหรี่มีค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์ยาสูบเฉลี่ยต่อเดือนเท่ากับ 546 บาท เรียกว่าเสียทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้อและค่ารักษาพยาบาลอีก ทางออกคือต้องป้องกันไม่ให้คนสูบบุหรี่หรือรณรงค์ให้เลิกสูบ ซึ่งจะลดการเจ็บป่วยและค่าใช้จ่ายสุขภาพที่จะเกิดขึ้นได้ และการเก็บภาษีเพิ่มต้องทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้น และมีมาตรการป้องกันไม่ให้ไปสูบบุหรี่ที่ราคาถูกกว่าด้วย” พญ.เริงฤดี กล่าว

ขณะที่ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีบุหรี่ เพื่อนำมาช่วยเหลือกองทุนบัตรทอง แต่การเก็บได้เพียง 3-4 พันล้านบาทต่อปีอาจไม่เพียงพอ เพราะระบบบัตรทองเป็นสิทธิประโยชน์แบบปลายเปิด และไม่มีการร่วมจ่าย เติมเงินเข้ามาเท่าไรก็ไม่พอ ขนาดรัฐบาลอนุมัติงบกลางเติมลงมา 5 พันล้านบาท ถึง 2 ครั้งก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น การเก็บเพิ่มเพียง 3-4 พันล้านบาท ไม่เพียงพอแน่นอน จะมาหวังพึ่งพางบตัวนี้ในการช่วยเหลือบัตรทองอย่างเดียวไม่ได้

ดร.อานนท์ กล่าวว่า แม้จะเห็นด้วยในหลักการเก็บภาษีเพื่อเติมเงิน แต่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีแบบเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmark Tax) เพราะเป็นการเปิดช่องไปสู่การใช้จ่ายผิดวัตถุประสงค์เหมือนที่เคยเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วกับทั้ง สสส. และ สปสช. และเป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืนเลยแม้แต่น้อย ซึ่งจากร่างกฎหมายดังกล่าวชัดเจนเลยว่า เป็นการเก็บแบบวัตถุประสงค์เฉพาะแน่นอน ดังนั้น ควรเก็บภาษีสรรพสามิตแล้วไปผ่านระบบงบประมาณตามปกติจะดีกว่า นอกจากนี้ ควรเก็บภาษีเหล้าเบียร์ น้ำอัดลมและน้ำหวานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพด้วย เพราะจะช่วยให้ได้เม็ดเงินมากยิ่งขึ้นในการนำมาดูแลสุขภาพของประชาชน

คงต้องมาลุ้นว่า หากสามารถเก็บภาษีเข้ากองทุนบัตรทองได้จริง จะมีวิธีการบริหารจัดการต่ออย่างไร และจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะคนไข้ล้น และ รพ.ขาดทุน ก็ยังเป็นวิกฤตที่กระทรวงหมอยังต้องเร่งแก้ไขอยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น