xs
xsm
sm
md
lg

รีดภาษี “บุหรี่” เท่าไรก็ไม่พอ ค่าใช้จ่ายโรคจากบุหรี่พุ่งกว่า 2 แสนล้าน เก็บภาษีได้แค่ 6 หมื่นล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักวิชาการ ชี้ รีดภาษี “บุหรี่” เท่าไรก็ไม่พอ เหตุค่าใช้จ่ายโรคจากบุหรี่พุ่งกว่า 2 แสนล้านบาท แต่เก็บภาษีได้แค่ 6 หมื่นกว่าล้านบาท เฉพาะผู้ป่วยในระบบบัตรทองยังสูงกว่าหมื่นล้านบาท เก็บภาษีบุหรี่เพิ่มซองละ 2 บาท รวม 3-4 พันล้านบาท ก็ไม่พออยู่ดี แนะต้องป้องกันรณรงค์เลิกสูบ

จากกรณีมีการยกร่าง พ.ร.บ.จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการภาครัฐ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ... เพื่อจัดเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มซองละ 2 บาท มาให้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง

วันนี้ (4 ต.ค.) พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวว่า การเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็นแนวทางที่ดี แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แม้จะเก็บเพิ่มขึ้นเท่าไร ก็ไม่เพียงพอ และไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่ประเทศต้องสูญเสียไป ทั้งนี้ มีงานวิจัยโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ที่ทำไว้เมื่อปี 2552 พบว่า ข้อมูลอัตราความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดจากการสูบบุหรี่มีมากถึง 7 หมื่นกว่าล้านบาท โดยจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของการรักษาพยาบาล ทั้งในส่วนของผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมประมาณ 15-20% ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการแพทย์ ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนที่มากกว่า ทั้งความสูญเสียรายได้จากการเจ็บป่วย และค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่างๆ แต่ขณะที่การจัดเก็บภาษีบุหรี่ในปีดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ถือว่ามีส่วนต่างกันเป็นจำนวนมาก

พญ.เริงฤดี กล่าวว่า โรคที่เกิดจากบุหรี่มีเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันมีมากกว่า 20 โรค จึงต้องมีการอัปเดตและศึกษาดูความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งตนได้ศึกษาวิจัยเมื่อประมาณปี 2559 โดยศึกษาเฉพาะส่วนของค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่ ในส่วนของผู้ป่วยในเท่านั้น พบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งครึ่งหนึ่งเป้นผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ส่วนค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยนอกและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ได้ศึกษา แต่หากประมาณการณ์โดยอ้างอิงข้อมูลเมื่อปี 2552 ซึ่งค่าใช้จ่ายเฉพาะผู้ป่วยในอยู่ที่ราว 10% ดังนั้น ในปี 2559 ความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ทั้งหมดที่เกิดจากบุหรี่จึงน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท ขณะที่ภาษีที่เก็บจากบุหรี่ในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 6 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น

“หากดูจากตัวเลขดังกล่าวค่าใช้จ่ายผู้ป่วยในที่เกิดจากบุหรี่เฉพาะผู้ป่วยบัตรทองน่าจะอยู่ราวๆ ปีละหมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งต้องเข้าใจว่างบบัตรทองก็ค่อนข้างจำกัด แม้จะเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มเติมซองละ 2 บาท หรือเฉลี่ยประมาณ 3-4 พันล้านบาทต่อปี ก็ยังไม่คุ้มค่าหรือไม่เพียงพออยู่ดี เพราะเมื่อเกิดโรคจากบุหรี่แล้วส่วนใหญ่เป้นโรคเรื้อรัง ที่ไม่มีทางรักษาหาย แบ่งเป็น 3 กลุ่มโรค คือ มะเร็ง หัวใจและหอลดเลือด และระบบทางเดินหายใจ ก็จำเป็นที่จะต้องรักษาไปตลอด” พญ.เริงฤดี กล่าว

พญ.เริงฤดี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีเพิ่มก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ทำให้มีเงินเข้ามาในระบบเพื่อดูแลสุขภาพคนมากขึ้น แต่ต้องแน่ใจด้วยว่าการเก็บภาษีเพิ่มจะต้องทำให้ราคาบุหรี่เพิ่มขึ้นด้วย เพราะหากราคาบุหรี่ไม่เพิ่มก็ไม่มีประโยชน์ และต้องมีมาตรการไมให้คนเข้าถึงราคาบุหรี่ที่ถูกกว่าด้วย มิเช่นนั้น คนก็หันไปสูบบุหรี่ราคาถูกกว่าอยู่ดี และสิ่งที่นั่งยืนที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดการสูบุบหรี่หรือการรณรงค์ให้เลิกสูบ ซึ่งจะลดการเจ็บป่วยและค่าใช้จ่ายสุขภาพที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการเก็บภาษีไปให้กองทุน สสส. และกองทุนบัตรทอง เป็นเรื่องดีที่จะทำงานคู่กัน ทั้งส่งเสริมสุขภาพและการรักษาโรค

ด้าน ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้น เพื่อนำมาช่วยเหลือกองทุนบัตรทอง แต่การเก็บได้เพียง 3-4 พันล้านบาทต่อปีนั้นก็อาจไม่เพียงพอ เพราะระบบบัตรทองเป็นสิทธิประโยชน์แบบปลายเปิด และไม่มีการร่วมจ่าย เติมเงินเข้ามาเท่าไรก็ไม่พอ ขนาดรัฐบาลอนุมัติงบกลางเติมลงมา 5 พันล้านบาท ถึง 2 ครั้งก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น การเก็บเพิ่มเพียง 3-4 พันล้านบาท ก็ไม่เพียงพออยู่ดี อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นด้วยในหลักการเก็บภาษีเพื่อเติมเงิน แต่ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีแบบเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ หรือ Earmark Tax แต่ควรเก็บภาษีสรรพสามิตปกติแล้วไปผ่านระบบงบประมาณตามปกติจะดีกว่า และควรเก็บภาษีเหล้าเบียร์ น้ำอัดลมน้ำหวานที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น