xs
xsm
sm
md
lg

3 คกก.ปฏิรูปเห็นพ้องแบน 3 สารเคมี ยันล้าง “ผักผลไม้” อย่างไรก็ไม่หมด สะสมโรคเพียบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


3 คกก.ปฏิรูป เห็นชัดร่วมกัน แบน 3 สารเคมี ยันล้าง “ผักผลไม้” อย่างไรก็ไม่หมด เสี่ยงสะสมโรค ทั้งมะเร็ง ไต สมอง จ่อเพิ่มมาตรฐานการตรวจสารเคมีให้ได้ 104 ชนิด จาก 280 ชนิด

ความคืบหน้าประเด็นการปนเปื้อนสารเคมีในผักผลไม้ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงร่วมกัน โดยระบุว่า ให้ล้างผักผลไม้ แต่ข้อเท็จจริงคือ กว่า 60% ล้างได้ไม่หมด มีโอกาสสะสมโรค ขณะที่ประเทศไทยยังไม่ยอมแบนสารเคมีในการทำเกษตร

วันนี้ (2 ต.ค.) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงการประชุมเมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 ต.ค. ของคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข ซึ่งมี นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัด สธ.และเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้มีมติเพื่อที่จะอธิบายถึงการที่ได้มีการแถลงเมื่อวันที่ 28 กันยายน ดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งคณะกรรมการปฏิรูปสาธารณสุข คณะกรรมการปฏิรูปทางสังคม และคณะกรรมการปฏิรูปทางทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ยังคงยืนยันการแบนสารพิษทั้งสามตัว พาราควอต ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอส นอกจากนั้น สนับสนุนอย่างเต็มที่ในเรื่องของเกษตรธรรมชาติยังยืนซึ่งรวมไปถึงสารพิษฆ่าแมลงซึ่งตกเป็นประเด็นในวันที่ 28 กันยายนด้วย

ประการที่สอง ในขณะที่ไม่สามารถแบนการใช้และไม่สามารถลดละการใช้สารพิษฆ่าแมลงต่างๆอีก 280 ชนิด ทาง อย. และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังคงให้ความรู้ประชาชนเรื่องการล้าง แต่ข้อสำคัญ คือ เน้นย้ำว่าล้างอย่างไรก็ไม่หมด และสิ่งที่หลงเหลือเมื่อบริโภคแล้วยังคงสะสมและยังก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งโรคมะเร็ง ไต สมองและส่งผลถึงเด็กแรกเกิด และเด็กที่กำลังเจริญเติบโต

ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 28 กันยายนที่ทำการตรวจกว่า 7,000 ตัวอย่างนั้น ต้องมีความเข้าใจว่า ตัวอย่างที่เก็บตรวจจากตลาดมีการปนเปื้อนสูงถึง 30-35% ส่วนที่ค่อนข้างดีนั้นจะมาจากการเก็บตัวอย่างที่แปลงและที่มีการผลิตที่ควบคุมแล้ว โดยมีการปนเปื้อน 10-15% และการตรวจนั้นไม่ได้ควบรวมการตรวจ พาราควอต ไกลโฟเซต และการตรวจไม่สามารถตรวจสารฆ่าแมลงได้ทั้ง 280 ชนิด แต่จะเพิ่มมาตรฐานในการตรวจให้ครอบคลุมได้ถึง 104 ชนิด

ประการที่สาม ทางกระทรวงสาธารณสุข อย. และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะเพิ่มความเข้มข้น ในการตรวจในพื้นที่และทบทวนระบบการเฝ้าระวังโดยจะต้องมีการพัฒนาชุดการตรวจที่สามารถระบุสารพิษได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว นอกจากนั้นในอนาคตอันใกล้จะได้มีการประกาศตลาดร้านค้าและแหล่งการเพาะปลูกที่ไม่มีสารเคมีพิษปนเปื้อนเหล่านี้

ประการที่สี่ เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขไม่มีอำนาจผลักดันในระเบียบการใช้สารพิษเหล่านี้ จึงขอให้ประชาชนคนไทยทุกคนร่วมกันผลักดันและต่อต้านการใช้สารเคมีสารพิษในพืชผักผลไม้และในอาหารและผลักดันต่อผู้บริหารของประเทศ

ประการสุดท้าย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน นั่นก็คือ ระบบสาธารณสุขและสุขภาพของประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปกป้องและต้องกำจัดต้นตอของอันตรายต่อสุขภาพของคนไทย ทั้งนี้ เพื่อทำให้หลักประกันสุขภาพอยู่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับคนไทยโดยเฉพาะคนที่ยากจนและด้อยโอกาส


กำลังโหลดความคิดเห็น