xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.ค้านร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ เหตุซ้ำซ้อน กม.บัตรทอง 4 เรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กก.สปสช.ภาคประชาชน ยื่นจดหมายค้านร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ แจง 4 ข้อ ซ้ำซ้อนกฎหมายบัตรทอง ทั้งกำหนดสิทธิประโยชน์ อำนาจจัดสรรงบ อำนาจควบคุมคุณภาพมาตรฐาน และการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ ชี้ สธ.จัดบริการสุขภาพปฐมภูมิได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายนี้

วันนี้ (1 ต.ค.) กลุ่มกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน ประกอบด้วย น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล น.ส.สารี อ๋องสมหวัง น.ส.สุนทรี เซ่งกิ่ง และ ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เพื่อคัดค้างร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ...

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า สาเหตุที่คัดค้างร่าง พ.ร.บ. ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. ... เนื่องจากไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเฉพาะรองรับ เพราะมีกฎหมายหลัก คือ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ที่ประกาศกำหนดขอบเขตบริการสาธารณสุขของคนไทยทุกคน ซึ่งครอบคลุมบริการสุขภาพปฐมภูมิอยู่แล้ว ทั้งนี้ การมีร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ จะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของการบริหารกฎหมาย 4 ประเด็นกับ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ ดังนี้ 1. ความซ้ำซ้อนในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ เนื่องจากขอบเขตของบริการปฐมภูมิเป็นส่วนหนึ่งของนิยามคำว่าบริการสาธารณสุขในกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

2. ความซ้ำซ้อนในเรื่องอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ ระหว่างบอร์ด สปสช. และคณะกรรมการในมาตรา 18 ของร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ 3. ความซ้ำซ้อนในเรื่องการใช้อำนาจการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข ซึ่งจะส่งผลต่อการกำหนดโทษหน่วยบริการปฐมภูมิหากเกิดปัญหาผิดมาตรฐาน ซึ่งหน่วยบริการที่ผิดมาตรฐานดังกล่าวจะต้องถูกลงโทษจากทั้ง 2 กฎหมาย และ 4. ความซ้ำซ้อนในการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการปฐมภูมิ และบทบาทหน้าที่ของหน่วยบริการและการจัดทำฐานข้อมูลหน่วยบริการ

น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันในส่วนของการจัดรับฟังความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้แม้ว่าจะมีการเปิดรับฟังถึง 37 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่เป็นการรับฟังจากคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมาย การทำโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มวิชาชีพ การทำ VDO Conference 77 จังหวัด และการประชาพิจารณ์ กับกลุ่มวิชาชีพต่างๆ 5 ครั้ง แต่ไม่ปรากฏว่ามีการเปิดรับฟังในภาคประชาสังคม จึงถือได้ว่าการรับฟังความเห็นทำให้ภาคประชาชนขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ขัดกับหลักการประเมินความจำเป็นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77

“จากความซ้ำซ้อนซึ่งจะทำให้การบังคับใช้มีปัญหาและการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรับฟังความเห็น กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน และกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข สัดส่วนภาคประชาชน ทั้ง 8 ราย จึงไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมินี้ และขอคัดค้านการนำกฎหมายฉบับนี้ไปใช้ และเห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขสามารถจัดระบบการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิได้โดยไม่ต้องมีร่าง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมินี้” น.ส.กรรณิการ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น