xs
xsm
sm
md
lg

ส่งมอบ “กัญชา” 100 กก.ให้ อภ.วิจัยทำน้ำมันกัญชา ตั้งเป้า 1.8 หมื่นขวดใน ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อภ.รับมอบ “กัญชา” ของกลางจาก ปส. 100 กิโลกรัม เตรียมวิจัยทำ “น้ำมันกัญชา” ขนาด 5 ซีซี กว่า 1.8 หมื่นขวด พร้อมพัฒนาสายพันธุ์ หวังรองรับกฎหมายประกาศใช้ทางการแพทย์ในคน

วันนี้ (25 ก.ย.) นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์รับมอบกัญชาของกลางจำนวน 100 กิโลกรัม จากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) โดยมี พล.ต.ต.ทนงศักดิ์ ทั่งทอง รอง ผบช.ปส. นายวชิระ อำพนธ์ ผู้อำนวยการกองวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าร่วมส่งมอบ

นพ.โสภณ กล่าวว่า การดำเนินการกีญชาทางการแพทย์ คณะกรรมการฯ กำหนดไว้ 4 เรื่อง คือ การพัฒนาสายพันธุ์ การทำสารสกัด ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และ การควบคุม ซึ่งกัญชาของกลางจำนวน 100 กิโลกรัม ที่รับมอบนั้น มีทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ กัญชาอัดแท่งห่อฟอยล์สีทอง ห่อพลาสติกธรรมดา และดอกที่บรรจุในถุงพลาสติก โดยจะนำมาหาสารสกัดสำคัญ THC ซึ่งเป็นสารที่กล่อมประสาท และ CBD สำหรับรักษากลุ่มโรคลมชัก โดยจะหาปริมาณสารสำคัญ และการปนเปื้อนสิ่งต่างๆ อาทิ โลหะหนัก ยาฆ่าแมลง เป็นต้น

นพ.โสภณ กล่าวว่า อภ.วางเป้าหมายว่า จะต้องพัฒนาเป็นน้ำมันกัญชาสำหรับหยอดใต้ลิ้นภายใน ธ.ค.นี้ ซึ่งจากของกลางทั้งหมด 100 กิโลกรัม จะทำเป็นสารสกัดเข้มข้นได้ 10-15 ลิตร แล้วนำมาเจือจางเป็นน้ำมันกัญชา ขนาด 5 มิลลิลิตร จำนวน 18,000 ขวด ทั้งนี้ จากข้อมูลวิชาการทั่วโลกพบว่ามีการใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ชัดเจนอยู่ 4 กลุ่มโรค คือ 1. รักษาอาการคลื่นไส้ในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ให้คีโม 2. โรคลมชักในเด็ก 3. ปลอกประสาทอักเสบ และ 4. ปวดอื่นๆ ทั่วที่เดิมต้องใช้มอร์ฟีนในการบรรเทาอาการปวด ส่วนข้อเสนอเพื่อการรักษาโรคอื่นๆ เช่น อัลไซเมอร์ และ พาร์กินสัน จะต้องศึกษาเพิ่ม รวมถึงการใช้ในการแพทย์แผนไทยที่มีกว่า 100 ตำรับ ก็อาจจะต้องรอกฎหมายปลดล็อกก่อน

นพ.โสภณ กล่าวว่า อภ.มีแนวคิดศึกษาพัฒนาสายพันธุ์กัญชาให้มีคุณภาพ ก็มีการปรับปรุงพื้นที่ภายใน อภ.เพาะปลูกกัญชา 2 สายพันธุ์ ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมเดินหน้าต่อในระดับอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ตั้งความหวังว่ากฎหมายจะสามารถปลดล็อกให้ใช้กัญชาเพื่อการรักษาโรคทางการแพทย์ได้ภายในปี 2562 หรืออย่างช้าที่สุดคือเลื่อนไปอีก 3 เดือน ขณะนี้กฎหมายอยู่ที่การหารือของ สนช. และทาง ป.ป.ส.ก็มีการพูดถึงการใช้ ม.44 มาปลดล็อกเรื่องนี้

พล.ต.ต.ทนงศักดิ์ กล่าวว่า แต่ละปีมีการจับกุมกัญชาได้ประมาณ 7 ตัน บางปีจับที่ลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศได้มากถึง 20 ตัน ที่ผ่านมา ถูกมองเป็นขยะรอเวลาเผาทำลาย ที่ผ่านมา การศึกษาวิจัยกัญชา ทั้งมหาวิทยาลัยรังสิต และ มหาวิทยาลัยนเรศวร ขอของกลางไป แต่เป็นเพราะเก็บไว้นานเลยไม่ค่อยมีคุณภาพเท่าที่ควร ดังนั้น ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่นำกัญชาของกลางที่เพิ่งจับกุมได้ ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่มีคุณภาพ ราคาสูงนำเข้าจากต่างประเทศ และส่งมอบให้กับทาง อภ.ทำการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ต่อ อนาคตหากการศึกษาเป็นไปด้วยดี และหากทางตำรวจจับกุมของกลางกัญชาได้ก็จะ อย.ประสานขอใช้ศึกษาทางการแพทย์ได้อีก

ผศ.ดร.วิเชียร กีรตินิจกาล อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ของกลางที่นำมาวันนี้มี 3 กลุ่ม คือ ห่อฟอยล์สีทอง ห่อพลาสติก เป็นกัญชาสายพันธุ์ไทย แต่ไปปลูกที่ประเทศลาว และอีกกลุ่มคือ ดอกบรรจุถุง เป็นของกลางที่นำเข้าจากต่างประเทศเช่นกัน ทั้งนี้ กัญชาสายพันธุ์ไทยนับว่ามีชื่อเสียง มีสาระสำคัญในปริมาณมาก ทั้งนี้ ทั่วโลกกัญชาถือว่ามาแรงมาก แคนาดากำลังจะประกาศให้สูบเพื่อความเพลิดเพลินได้ทั่วประเทศ หลังจากใช้ทางการแพทย์ ส่วนออสเตรเลียมาทีหลังแต่พยายามผลักดันกฎหมายโดยตั้งเป้าเป็นประเทศอันดับหนึ่งในการส่งออกยาจากกัญชา ตีมูลค่าประมาณ 4.6 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงกว่ามูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทยถึง 3 เท่า ซึ่งต้องยอมรับว่าเราหลีกเลี่ยงการใช้ยาจากกัญชาไม่ได้ หากต้องนำเข้ามาจะมีราคาแพงมาก อย่างน้ำมัน 1 มิลลิลิตร จำนวน 5 หยด จะมีราคา 1 พันบาท แต่ถ้า อภ.ปลูกและพัฒนาเองจะทำให้ได้ยาจากกัญชาในราคาที่ถูกลง อนาคตก็อาจจะต้องปรับปรุงพันธุ์ที่สามารถปลูกได้ทั่วไปในสภาพแวดล้อมเปิด ทั้งนี้ องค์การอนาโลกประกาศว่ามีแนวโน้มสูงที่จะนำมารักษาโรคพาร์กินสัน และ อัลไซเมอร์ ได้

ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา อภ. กล่าวว่า แผนการวิจัยและพัฒนาการผลิตยาครบวงจรของ อภ.คือ 1. วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้ได้สารสกัดจากกัญชาให้ได้ภายใน ธ.ค.นี้ 2. ปรับปรุงสายพันธุ์และพัฒนาการปลูก ภายใน มี.ค.2562 3. วิจัยและพัฒนายาให้ได้ใน พ.ค.2562 โดยต้องรอกฎหมายใหม่ปลดใช้กัญชาทางการแพทย์ก่อน 4. ผลิตยาในระดับอุตสาหกรรมภายใน ธ.ค.2563 และ 5. ศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกและผลิตยาในระดับอุตสาหกรรมภายในปีงบฯ 2562












กำลังโหลดความคิดเห็น