xs
xsm
sm
md
lg

อดีตเลขาฯ อย.จี้ สธ.เผยร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ ก่อนชง ครม.หวั่นยื่นร่างเดิม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อดีตเลขาฯ อย. จี้ สธ.เปิดเผยร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ ที่จะยื่น ครม. หวั่นเป็นร่างเดิม เผย มีประเด็นน่าห่วงมากกว่าเรื่องวิชาชีพ ทั้งร้านขายยาที่ไม่ใช่ยาอันตรายและควบคุมพิเศษ เปิดช่องผลิตยาโดยไม่มีมาตรฐาน แนะวิชาชีพอื่นจ่ายยาต้องคุมเข้มเงื่อนไขมากขึ้น อย.แจงอยู่ระหว่างแก้ร่าง

ความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. ยา พ.ศ. ... หลังจากที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่า จะยื่นเสนอร่างกฎหมายให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับหลักการ ตามที่กลุ่มเภสัชกรเสนอ ส่วนความคิดเห็นอื่นๆ ให้แนบไปกับร่างด้วยนั้น

วันนี้ (19 ก.ย.) ภก.ภักดี โพธิศิริ กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านที่ 6 และอดีตเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มั่นใจว่า ร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ ที่จะเสนอไปยัง ครม.เป็นร่างเดิมที่ อย. เสนอไปเมื่อ ก.ค. 2561 หรือเป็นร่างที่มีการปรับแก้ตามข้อทักท้วงในช่วงที่ผ่านมา เพราะหากยังเสนอร่างเดิม แต่แนบข้อทักท้วงไปก็ไม่ได้ประโยชน์ เพราะ ครม.จะพิจารณาตามร่างหลักมากกว่าพิจารณาข้อเสนอที่แนบไป จึงอยากขอให้ นพ.ปิยะสกล สร้างความมั่นใจ โดยการประกาศชัดๆ ว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ จะเป็นร่างที่มีการปรับแก้ตามข้อห่วงใย ไม่ใช่แค่แนบข้อเสนอ

ภก.ภักดี กล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่ได้อยากให้มองเรื่องร่าง พ.ร.บ. ยา ฉบับใหม่ เป็นเรื่องการขัดแย้งของวิชาชีพ เพราะร่างกฎหมายส่งผลกระทบอย่างมากและมีข้อห่วงกังวลอีกหลายเรื่อง เช่น การแบ่งประเภทยา ควรแบ่งแค่ 3 ประเภท คือ ยาที่สั่งโดยแพทย์ ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร และยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งทั้งหมดต้องจำหน่ายในร้านขายยาเท่านั้น เพราะการแบ่งเป็น 4 ประเภท โดยการเพิ่มยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษเข้ามา และมีการกำหนดให้มีใบอนุญาตร้านขายปลีกยาแผนปัจจุบันที่ไม่ใช่ยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษ แต่กำหนดให้คนดูแลคือเภสัชกร ซึ่งก็ไม่ต่างจากการเปิดร้านขายยาทั่วไปประเภท ขย. 1 ซึ่งขายยาได้ทั้งหมด แล้วใครจะมาขออนุญาตเปิดร้านขายยาประเภทนี้ ทำให้สงสัยว่ากำหนดร้านเช่นนี้เพื่ออะไร จะเป็นการเปิดช่องให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นเข้ามาขายได้หรือไม่ แล้วร้านขายยา ขย. 2 ก็ไม่มีการพูดถึง หากกฎหมายออกมาก็ต้องปิดเลย

ภก.ภักดี กล่าวว่า ส่วนการยกเว้นวิชาชีพให้จ่ายยาได้ เป็นเพราะเมื่อก่อนเภสัชกรมีจำนวนไม่เพียงพอ จึงอนุญาตให้แพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ จ่ายยาผู้ป่วยของตนเองได้ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เรามีเภสัชกรถึง 3.8 หมื่นคน กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีร้านขายยาแทบทุกอำเภอ จึงมองว่าการเปิดช่องให้วิชาชีพอื่นจ่ายยา ต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น ไม่ใช่ให้จ่ายยาได้แบบกว้างๆ อย่างประเทศเกาหลีใต้ ก็ยกเว้น แต่มีเงื่อนไขที่เข้ม คือ เมื่อมีเหตุฉุกเฉิน หรือความจำเป็นเร่งด่วน ถึงจ่ายยาได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการผลิตยาตามใบสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือทันตกรรมที่สั่งสำหรับคนไข้เฉพาะรายด้วย ทั้งที่การผลิตยาตามโรงงานมีมาตรฐานเข้มมาก แต่กลับเปิดช่องให้ผลิตยาที่ไม่แน่ใจว่าจะมีคุณภาพหรือไม่ ขณะที่เรื่องการโฆษณายาก็เป็นเพียงการจดแจ้งไม่ใช่การขออนุญาตอย่างเข้มงวด

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ข้อเสนอให้เปิดเผยร่างกฎหมายว่ามีการแก้ไขจริงหรือไม่ ขอให้ไม่ต้องกังวล เพราะ อย.มีการแก้ไขตามที่รัฐมนตรีว่าการ สธ. ได้สั่งการมาก่อนหน้านี้ว่า ต้องเป็นไปตามข้อหารือร่วมกันอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าว อยู่ระหว่างการปรับแก้ คาดว่าภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะเสนอให้ รมว.สธ. ลงนามเพื่อเสนอ ครม. และทันต่อกรอบกำหนดเวลา อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของทางกลุ่มพยาบาล อย.ก็จะเสนอเข้าไปด้วย ทั้งนี้ ย้ำว่า ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ไม่มีลับ ลวง พราง เพราะเมื่อเข้า ครม.แล้ว ก็ต้องมาสอบถามความเห็นชอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องอีก ซึ่งยังมีขั้นตอนอีกมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น