xs
xsm
sm
md
lg

จี้ขยายสิทธิบัตรทอง ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ “มะเร็งเม็ดเลือดขาว-ต่อมน้ำเหลือง” ในเด็ก มากกว่าเนื้อเยื่อพี่น้อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สิทธิบัตรทองยังจำกัดปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ “มะเร็งเม็ดเลือดขาว-ต่อมน้ำเหลือง” ในเด็ก เฉพาะผู้บริจาคที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือด หมอมะเร็งรามาฯ ชี้ โอกาสเข้ากันได้แค่ 25% เผยสามารถค้นหาเซลล์พ่อแม่เพื่อปลูกถ่ายให้ลูกได้ หวังพัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุม ร่วมการใช้สเต็มเซลล์ผู้บริจาคสภากาชาดไทย เผยอยู่ระหว่างหารือ

ศ.นพ.สุรเดช หงส์อิง หัวหน้าโครงการโรคมะเร็งในเด็ก สาขาโลหิตวิทยาและโรคมะเร็ง ภาควิชากุมารศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคณะทำงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ออกแบบสิทธิประโยชน์มะเร็งโลหิตวิทยาในเด็ก กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยเด็ก เฉลี่ยแล้วพบถึงปีละ 600 คน และมีถึง 200 คน ที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการปลูกถ่ายเม็ดเลือด หรือการทำสเต็มเซลล์ไขกระดูก ซึ่งยังคงไม่พบว่า เกิดจากสาเหตุใด แต่สำหรับผู้ป่วยในสิทธิบัตรทอง ยังไม่สามารถครอบคลุมการรักษาได้ทั้งหมด เนื่องจากมีกฎระเบียบระบุเอาไว้ว่า จะสามารถปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้จากผู้บริจาคที่เป็นพี่น้องตามสายเลือดเท่านั้น

ศ.นพ.สุรเดช กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ไม่อาจรักษาให้หายได้ด้วยเคมีบำบัด แต่ต้องรักษาต่อยอดด้วยการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่ง สปสช.มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์โดยสามารถปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ได้เฉพาะกับพี่น้องที่มีเซลล์ตรงกัน แต่ความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่เซลล์จะสอดคล้องกับทั้งผู้บริจาคและผู้รับซึ่งเป็นพี่น้องกันมีโอกาสแค่ 25% ซึ่งเซลล์ของพ่อและแม่ไม่มีทางตรงกันอยู่แล้ว การพัฒนาขีดความสามารถในการรักษาพบว่า ปัจจุบันแพทย์สามารถค้นหาเซลล์ในพ่อแม่เพื่อปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ให้กับลูกที่ป่วยได้ แต่ต้องยอมรับว่าสิทธิประโยชน์ตรงจุดนี้ยังไม่ได้ถูกพัฒนา เพราะยังติดขัดด้านงบประมาณ เช่นเดียวกับการขอปลูกถ่ายจากผู้บริจาคของสภากาชาดไทยที่ยังติดขัดในแง่งบประมาณ แต่ขณะนี้ทราบว่าอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อประสานงานไปยังสภากาชาดไทยในการขอรับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งต้องรอดูว่าจะมีการพิจารณาเป็นอย่างไร

“ผู้ป่วยรายแรกที่ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เกิดขึ้นเมื่อราว 30 ปีก่อน แต่สำหรับสิทธิประโยชน์บัตรทองเพิ่งให้สิทธิมาประมาณ 10 ปี และมีเด็กที่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ไปแล้วราว 300 คน ซึ่งถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับจำนวนผู้ป่วยในเด็ก เพราะปัจจุบันยังคงมีผู้ป่วยในเด็กจำนวนมากที่รอการปลูกถ่าย ซึ่งบางส่วนก็เป็นการปลูกถ่ายผ่านการบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาล ซึ่งต้องยอมรับว่าเงินบริจาคมีมากกว่างบประมาณที่ สปสช.ให้มา ทั้งนี้ ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในเด็กมีความจำเป็นต้องปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ซึ่งแผนการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมมากกว่าเดิมเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องพิจารณา ซึ่งต้องดูว่าคุ้มค่าหรือไม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมประชุมกันเพื่อหาประโยชน์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วย” ศ.นพ.สุรเดช กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น