xs
xsm
sm
md
lg

กทม.เร่งเพิ่มเครื่องตรวจฝุ่นเล็กกว่า 2.5 ไมครอน รวมมาตรการลดฝุ่นเป็นฉบับเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม. เร่งเพิ่มเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ เน้นฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน พร้อมมอบสำนักสิ่งแวดล้อมรวบรวมมาตรการป้องกันลดฝุ่นละอองให้เป้นมาตรฐานเดียว ส่งเวียนให้สำนักโยธา สำนักงานเขตทุกแห่งปฏิบัติเหมือนกัน พร้อมทำความเข้าใจผู้ก่อสร้างช่วยลดฝุ่น

วันนี้ (19 เม.ย.) นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังตรวจสอบระบบสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ บริเวณสำนักงานเขตราชเทวี รถตรวจวัดคุณภาพอากาศ บริเวณโรงเรียนหอวัง และเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศติดตั้งบนเสาเหล็กสี่แยกเกษตร ว่า ทั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ รถตรวจคุณภาพอากาศ และเครื่องมือตรวจบนเสา สามารถตรวจสภาพอากาศอุตุนิยมวิทยาได้เหมือนกัน คือ ทิศทางลม ความเร็วลม อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และความดันอากาศ แต่ความสามารถในการตรวจมลพิษทางอากาศจะต่างกัน โดยสถานีตรวจจะตรวจได้ทั้งหมด ทั้งฝุ่นขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน 10 ไมครอน ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ โอโซน และคาร์บอนมอนออกไซด์ ส่วนรถตรวจคุณภาพอากาศจะตรวจได้เพียงฝุ่น 2.5 ไมครอน และ 10 ไมครอน ขณะที่เครื่องมือตรวจวัดบนเสา ตรวจได้แค่ฝุ่น 2.5 ไมครอน

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ขณะนี้ กทม. มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 4 แห่ง รถตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 5 คัน และเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบติดตั้งบนเสาเหล็ก จำนวน 46 แห่ง ซึ่งจากความสามารถในการวัดมลพิษที่ต่างกัน สำนักสิ่งแวดล้อมจึงได้หาแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ได้มากที่สุด โดยการเพิ่มเครื่องมือตรวจวัดคุณภาพอากาศที่สามารถวัดค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนได้ รวมทั้งจอแสดงผลว่าควรจะติดตั้งเพิ่มเติมในบริเวณใดบ้าง ที่สำคัญ ให้เน้นการใช้งบประมาณอย่างประหยัด แต่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน สำหรับการแจ้งข้อมูลค่าฝุ่นละอองให้ประชาชนรับทราบ ได้มีการติดตั้งจอแสดงผล จำนวน 8 แห่ง บริเวณถนนสายหลักที่มีการจราจรหนาแน่น และบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ถ้าหากประชาชนต้องการทราบข้อมูลในขณะนั้นสามารถเข้าไปดูข้อมูลได้ทางเว็บไซต์สำนักสิ่งแวดล้อม www.bangkok.go.th/environment หรือทางข่าวประชาสัมพันธ์ที่เผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

“ไม่ว่า กทม. จะติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศจำนวนเท่าไร หรือบริเวณใดบ้าง สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการมากกว่า คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง เมื่อพบจุดที่มีค่าฝุ่นละอองเกินกว่าค่ามาตรฐาน ต้องรีบดำเนินการแก้ไขทันที ซึ่งในพื้นที่ก่อสร้างอาคารสูง ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน และก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการป้องกัน เพื่อให้ผู้ทำการก่อสร้างป้องกันปัญหาฝุ่นละออง ตลอดจนการทำความสะอาดผิวการจราจรและพื้นทางเท้า ซึ่งช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองได้ โดยสำนักงานเขตต้องดำเนินการเป็นประจำ และสร้างความเข้าใจกับประชาชน ผู้ก่อสร้าง” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ขอให้สำนักสิ่งแวดล้อมรวบรวมกิจกรรม มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ทั้งจากสำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธา และสำนักงานเขต 50 เขต ซึ่งมีหลายฉบับและมีความแตกต่างกัน ให้รวบรวมเป็นเอกสารฉบับเดียวกัน เวียนแจ้งให้สำนักการโยธา และสำนักงานเขต 50 เขต ยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนรวบรวมข้อมูลการขออนุญาตการก่อสร้างในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบการดำเนินงาน นอกจากนี้ ได้เตรียมจัดกิจกรรมถนนสะอาด ซึ่งจะนำร่องในพื้นที่เขตปทุมวันเป็นแห่งแรก และขยายให้ครอบคลุมทั้ง 50 สำนักงานเขต

“ข้อมูลผลการตรวจวัดฝุ่นละอองและคุณภาพอากาศ ขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเนื่องจากในระยะนี้มีฝนตกลงมาทำให้ค่าฝุ่นละอองลดน้อยลง แต่คาดว่า หลังจากที่ฝนทิ้งช่วงในหน้าร้อน ค่าฝุ่นละอองจะสูงขึ้นอีกครั้ง จึงจะต้องมีการเฝ้าระวังและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบอย่างทั่วถึงต่อไป” รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น