xs
xsm
sm
md
lg

สธ.จ่อของบ “ผู้ป่วยใน” เพิ่มเป็น 8,000 บาทต่อคน ลดภาระ รพ.ขาดทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เตรียมชง ครม. ของบ “ผู้ป่วยใน” สิทธิบัตรทองเพิ่มขึ้นจาก 7,000 บาท เป็น 8,000 บาทต่อคน เหตุต้นทุนค่ารักษาสูงกว่าต้นทุนที่แท้จริง ทำหลาย รพ. แบกค่าใช้จ่ายอยู่ภาวะขาดทุน

วันนี้ (26 ก.พ.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมพร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) ว่า ช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา อภ. มีการพัฒนาที่ดีมากอย่างเห็นได้ชัด เช่น การสร้างโรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ไข้หวัดนกที่จะสามารถผลิตได้ในปี 2563 นอกจากนี้ ยังมีนโยบายที่จะร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในการผลิตยามะเร็ง เพื่อทำให้ยารักษามะเร็งมีราคาถูกลง รวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางยาให้มียาใช้เพียงพอ ไม่แข่งขันกับเอกชน และเติบโตไปด้วยกัน ร่วมมือกันสร้างการเข้าถึงยาของประชาชน ส่วนเรื่องที่ต้องมีการผลักดัน คือ คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) ต้องมีความรู้ความสามารถด้านธุรกิจ สนองนโยบายรัฐบาล เรื่องการส่งเสริมสมุนไพรไทย มีธรรมาภิบาล ดำเนินการด้วยความโปร่งใส และดูแลผู้ปฏิบัติงานให้มีความสุข เพื่อให้ อภ. ผลิตยาดี มีคุณภาพ ประชาชนเข้าถึงยาในราคาคุ้มค่าเป็นธรรม เป็นที่เชื่อถือของประชาชน 

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ส่วนเรื่องการจัดซื้อยาเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษปีงบประมาณ 2561 ที่โรงพยาบาลราชวิถีเป็นผู้รับมาดูแล โดยมอบหมายให้ อภ. เป็นผู้ไปจัดซื้อยารวมนั้น ขณะนี้ทุกอย่างเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาอะไร อย่างไรก็ตาม สธ. เตรียมขออนุมัติงบกลาง ส่วนหนึ่งจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อนำไปใช้จ่ายหมุนเวียนลดภาระอัตราค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในสังกัด สธ. โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหมและโรงเรียนแพทย์ในส่วนของผู้ป่วยใน สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เนื่องจากต้นทุนค่ารักษาพยาบาลในผู้ป่วยในของระบบบัตรทอง มีอัตราสูงกว่าต้นทุนที่แท้จริง ทำให้หลายโรงพยาบาลต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่ไม่สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ ทำให้อยู่ในสภาวะขาดทุน

“งบประมาณในการเบิกจ่ายที่ได้รับจากภาครัฐอยู่ที่ 7,000 บาทต่อคน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน สมควรอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 8,000 บาทต่อคน ซึ่งที่ผ่านมา แม้ปี 2560 รัฐบาลจะเคยอนุมัติงบกลางช่วยเหลือโรงพยาบาลสังกัด สธ. มาแล้ว แต่ก็ไม่เพียงพอ เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับยังไม่ต้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้งงบประมาณที่เคยขอไปนั้นไม่ได้ถูกนำมาบรรจุเป็นฐานในการอนุมัติงบประมาณในครั้งต่อไป ทำให้เป็นสาเหตุที่ต้องจำเป็นต้องขออนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยเหลือให้เกิดสภาพคล่อง” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ประธานบอร์ด อภ. กล่าวว่า อภ. ได้ดำเนินการเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาที่จำเป็นในระบบสาธารณสุขอย่างทั่วถึง การผลิตและจัดหายาเชิงสังคมที่มีความจำเป็น เช่น ยากำพร้า ยาขาดแคลน ยาที่มีการใช้น้อยแต่จำเป็น ให้มีรายการมากขึ้น ขับเคลื่อนองค์การเภสัชกรรม 4.0 โดยวิจัย พัฒนา และผลิต ผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม ภายใต้แนวคิด Smart Industry, Smart Office, Smart Marketing และ Smart Human Resource และเปลี่ยนผ่านไปสู่องค์กรที่มีการนำระบบดิจิตัล และBig Data มาใช้ในการดำเนินงานให้มากขึ้น






กำลังโหลดความคิดเห็น