xs
xsm
sm
md
lg

BDMS ชี้ “เจ็บตัวน้อย-การแพทย์แม่นยำ” แนวโน้มเทคโนโลยีรักษา “มะเร็ง” ในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เทคโนโลยีทางการแพทย์มีการพัฒนาการขึ้นตามลำดับ การรักษา “โรคมะเร็ง” ก็เช่นกัน ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมา เพื่อให้การบำบัดรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดียิ่งขึ้น

นายแพทย์ ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ ในโรงพยาบาลกลุ่มบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เปิดเผยว่า ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งยังคงใช้การรักษาที่เรียกว่า “สามเสาหลัก” คือ การผ่าตัด การฉายแสงรักษา และเคมีบำบัด ซึ่งประสิทธิภาพในการรักษาถือว่าดี เพราะการรักษาจะมีการระดมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนการรักษาว่าจะดำเนินการอย่างไรก่อนหลัง โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการรักษาจะคำนึงผ่าน 3 ปัจจัย คือ 1. ระยะของมะเร็ง ว่า เป็นมะเร็งระยะใด เช่น หากเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น อาจพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัด 2. ตัวคนไข้เอง เช่น อายุ โรคประจำตัวต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการรักษา ยกตัวอย่าง แม้จะเป็นมะเร็งระยะเริ่มต้น แต่ผู้ป่วยอายุ 90 กว่าปี มีโรคหัวใจ การผ่าตัดผู้ป่วยอาจรับไม่ไหวก็ได้ เป็นต้น และ 3.แพทย์ผู้รักษา ต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคมะเร็ง และทำงานกันเป็นทีม

สำหรับแนวโน้มของเทคโนโลยีการรักษาโรคมะเร็งในอนาคต นายแพทย์ ธีรวุฒิ ระบุว่า จะพัฒนาไปสู่การรักษาที่ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง และเป็นการแพทย์แบบแม่นยำ (Precision Medicine) มากขึ้น ซึ่งจะมีการลงลึกถึงในระดับยีน ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมาก็มีการค้นพบว่า หากเป็นมะเร็งเต้านมควรตรวจยีนเฮอทู (Her2) เพื่อดูว่าผลผิดปกติทำให้สร้างโปรตีนเฮอทูมากไปหรือไม่ ซึ่งหากพบยีนเฮอทูผิดปกติผู้ป่วยจะตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดและฮอร์โมนบำบัดได้น้อยกว่าคนที่ไม่มี จำเป็นต้องใส่ยาเฉพาะต่อเฮอทูคือ Tratuzumab ซึ่งก็เป็นการวางแผนการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือแม่นยำมากขึ้น หรืออย่างผ่าตัดมะเร็งลำไส้ไปแล้วและพบว่ากลับมาเป็นซ้ำ มีการให้ยารักษา Cetuximab ซึ่งอาจได้ผลแค่ 30% หากมีการตรวจยีน Kras ว่าใช้ยารักษาได้หรือไม่ก็จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะค่ารักษามีราคาแพง หากผู้ป่วยอยู่ในกลุ่ม 70% ที่ไม่ได้ผลก็เท่ากับเสียเปล่า ซึ่งการตรวจยีนช่วยให้ทราบว่าใช้ยาอาจไม่ได้ผล ก็เลือกพิจารณาการรักษาด้วยวิธีอื่น เป็นต้น ซึ่งในอนาคตก็จะยังคงเป็นไปแนวทางเช่นนี้

นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าวว่า หากแยกเป็นวิธีการรักษา แนวโน้มของเทคโนโลยีการรักษาแต่ละประเภทจะเป็นดังนี้ 1.การผ่าตัดรักษา ก็จะพัฒนาไปสู่การมีผลกับคนไข้น้อยที่สุด เช่น ใช้การกล้องส่องผ่าตัด เพื่อให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็กลง ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง หรือหันมาใช้หุ่นยนต์มากขึ้น แต่การใช้หุ่นยนต์อาจจะยังเป็นในเรื่องของการผ่าตัดที่เข้าไปได้ยาก ให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น เช่น การผ่าตัดในพื้นที่แคบ เพื่อให้ได้มุมในการผ่าตัดที่มากกว่า ซึ่งไม่ใช่การผ่าตัดทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้หุ่นยนต์

“การผ่าตัดรักษามะเร็งจะพัฒนาไปสู่การอนุรักษ์อวัยวะมากขึ้น แต่ต้องเป็นมะเร็งที่ไม่ใหญ่มาก ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ ต้องค้นหามะเร็งในระยะแรกเริ่มให้ได้ ซึ่ง BDMS จะมีการคัดกรองประเมินความเสี่ยงเฉพาะบุคคลว่าเสี่ยงมะเร็งชนิดใด ค่อยไปตรวจค้นหามะเร็งขนิดนั้น ซึ่งหากเป็นระยะเริ่มต้นจะได้รักษาหาย โอกาสรักษาอวัยวะมีสูง” นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าว

2. การฉายแสงหรือรังสีรักษา ก็จะมีความเจาะจงมากยิ่งขึ้น แม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยการฉายลำแสงเฉพาะส่วน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับเนื้อเยื่อหรือเซลล์ดีอื่นๆ ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนมะเร็งตับไม่สามารถฉายรังสีรักษาได้ เพราะรังสีจะกระทบกับเนื้อตับ ทำให้ตับพังเสียหายได้ แต่ปัจจุบันฉายแสงเฉพาะที่ได้ (SBRT) ถือเป็นความแม่นยำที่เพิ่มมากขึ้น แต่เทคโนโลยีเหล่านี้แม้จะพัฒนามากขึ้น แต่ก็มีราคาสูง ที่สำคัญต้องอาศัยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการใช้งานเครื่องด้วย บางที่ลงทุนซื้อเครื่องแต่หากไม่มีบุคลากรก็ต้องเสียเปล่า สำหรับการควบคุมรังสีให้ไม่กระทบเซลล์ดีอื่นๆ หลักการ คือ หากยิ่งเป็นธาตุหนักก็จะควบคุมได้ง่ายขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็เข้าใจในหลักการนี้ แต่การผลิตเครื่องมือออกมาไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการพัฒนาการฉายแสงด้วย “เฮฟวีไอออน” (Heavy Ion) ซึ่งใช้ธาตุหนัก เช่น คาร์บอนทำให้สามารถควบคุมรังสีแล้วออกฤทธิ์ได้มุ่งเป้ามากขึ้น โดยทางญี่ปุ่นได้มีการหารือกับ BDMS เพื่อที่จะลงทุนให้เราพัฒนาการรักษาด้วยเฮฟวีไอออนในประเทศไทย

3. ยารักษาหรือเคมีบำบัด ก็มีการพัฒนาให้ออกฤทธิ์ไปสู่เซลล์มะเร็งมากขึ้น และกำลังก้าวไปสู่การใช้ “ภูมิคุ้มกัน” ในการรักษา หรือ อิมมูโนเทอราปี (Immunotherapy) เนื่องจากมีการค้นพบว่า มะเร็งเกิดจากตัวมนุษย์ แต่ตัวมนุษย์ไม่สามารถกำจัดมันได้ คือไม่สามารถใช้ภูมิคุ้มกันกำจัดเซลล์มะเร็งออกไปได้ตามปกติ มะเร็งซึ่งความจริงเกิดจากเซลล์ของเราเองจึงเหมือนเป็นทั้งตัวเราและไม่ใช่ตัวเรา ดังนั้น จึงมีการศึกษาว่าเหตุใดจึงทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายไม่สามารถทำงานและกำจัดเซลล์มะเร็งได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องรู้ลึกถึงระดับยีนว่าเป็นอย่างไร และปัจจุบันได้ค้นพบแล้ว และสามารถผลิตยามาปลดล็อกตรงนี้ เพื่อให้ภูมิคุ้มกันทำงาน หรือเรียกว่าให้ยาแล้วทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายไปจัดการเซลล์มะเร็งนั่นเอง

“วิธีและหลักการเหล่านี้เริ่มต้นได้นำมาใช้ในการรักษามะเร็งไฝดำแล้ว พบว่า ได้ผลดี และเริ่มมาใช้กับมะเร็งปอดแล้ว แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ไม่ใช่ว่าใช้วิธีนี้แล้วรักษาหายเลย แต่เป็นเพียงการเอามายืดชีวิตได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันยาจะเป็นการรักษาเสริมเพื่อให้มะเร็งมีขนาดเล็กลงแล้วจึงผ่าตัด ส่วนมะเร็งที่ใช้ยารักษาล้วนๆ ส่วนใหญ่คือ มะเร็งเกี่ยวกับโรคเลือด ต่อมน้ำเหลือง” นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าว

เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ก็จะยิ่งเข้ามาช่วยให้การรักษามะเร็งมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือเป็นความหวังของผู้ป่วยมะเร็งที่จะได้รับการรักษาอย่างดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น