xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเพศใน ร.ร.ปัญหาซุกใต้พรมรอวันปะทุ ผู้เสียหายไม่กล้าพูด แนะมีไกด์ไลน์ดูแลคดีละเมิดทางเพศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการศึกษาห่วงปัญหา “เรื่องเพศใน ร.ร.” ซุกใต้พรม รอวันปะทุ เหตุไร้ช่องทางให้เด็กส่งเสียง ไม่มีการแก้ปัญหาชัดเจน ต้องแก้ปัญหาความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คณบดีนิติศาสตร์ จุฬาฯ เผย การดำเนินคดีเป็นเรื่องยาก ผู้เสียหายไม่กล้าพูด ขณะที่กฎหมายเอาผิดหนักเฉพาะครูมีหน้าที่ต่อศิษย์ ควรขยายเอาผิดหนักใน “คนมีอำนาจเหนือผู้อื่น” ด้วย พร้อมมีไกด์ไลน์การดูแลเรื่องล่วงละเมิดทางเพศโดยเฉพาะ ด้านเอ็นจีโอ ชี้ ร.ร. ต้องมีกระบวนการจัดการภายใน มีคณะกรรมการเฉพาะ เป็นความลับ และให้ความเป็นธรรม

หลังจากช่วงที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับผู้อำนวยการโรงเรียนและครูในโรงเรียนมีการคบหา หรือมีเพศสัมพันธ์กับเด็กบ่อยครั้ง รวมไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างเด็กนักเรียนเองด้วยนั้น

วันนี้ (6 ก.พ.) ที่อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 10 เรื่อง “ปัญหาหรือตัณหา : ธรรมาภิบาลกับเรื่องเพศในโรงเรียน” โดย ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล นักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ปัญหาความรุนแรงทางเพศในโรงเรียนที่มีการผลิตซ้ำทุกปี เนื่องจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจ คือ ผู้บริหารที่มีอำนาจเหนือผู้ถูกกระทำ ผู้ชายมีอำนาจเหนือผู้หญิง หรือครูมีอำนาจเหนือนักเรียน ขณะที่มาตรการลงโทษก็ไม่ชัดเจนเป็นรูปธรรม การสอบสวนไม่เปิดให้ผู้ปกครองหรือเด็กได้มีการส่งเสียง รวมไปถึงการรายงานข่าวก็ไม่ได้ติดตามต่อเนื่อง เพราะเมื่อมีประเด็นใหม่การรายงานก็จะเปลี่ยนไป ทำให้ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข ปัญหาเหล่านี้จึงถูกซุกไว้ใต้พรมและรอวันปะทุในครั้งต่อไป จากเรื่องเหล่านี้ทำให้ต้องมาตั้งคำถามว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยจริงหรือไม่ เด็กต้องเรียนรู้การอยู่กับสังคมแบบไหน

“จากสถิติร้องคดีเรื่องเพศในโรงเรียนปีที่ผ่านมามี 53 ราย แต่ไม่ปรากฏเป็นข่าวมีอีกหลายเท่า โดยปีหนึ่งมีเด็กผู้ชายถูกล่วงละเมิดทางเพศถึง 1 ใน 6 ขณะที่เด็กผู้หญิงถูกล่วงละเมิด 1 ใน 4 ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่แค่เด็กผู้หญิงเท่านั้นที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ กลุ่มเด็กผู้ชายก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศมากขึ้นด้วย และส่งเสียงน้อยกว่าเด็กผู้หญิง เนื่องจากค่านิยมที่ว่าผู้ชายต้องเข้มแข็งและเชื่อว่าผู้ชายไม่เสียหายอะไร นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มเด็ก LGBT หรือกลุ่มเด็กพิเศษที่ไม่สามารถส่งเสียงเรียกร้องด้วยเช่นกัน” ผศ.อรรถพล กล่าว

ผศ.อรรถพล กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้คงไม่ใช่แค่กฎหมาย แต่ต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมค่านิยมชายหญิงในโรงเรียน และการมองเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจในโรงเรียน สร้างชุดความคิดใหม่ให้ผู้เรียนและครู เคารพสิทธิเนื้อตัวกัน ผู้ใหญ่และเด็กเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน เคารพกัน และให้การศึกษาเรื่องทักษะชีวิตเด็ก ให้เด็กตระหนักเรื่องสิทธิและร่างกายตัวเอง และเมื่ออยู่ 2 ต่อ 2 กับเพื่อนรุ่นเดียวกันหรือผู้ใหญ่ จะส่งเสียงอย่างไร ต่อรองอย่างไร นอกจากนี้ โจทย์ท้าทายคือ การป้องกันเรื่องนี้จะทำอย่างไรไม่ให้มีพื้นที่ส่วนตัว มุมลับ หรือพื้นที่เสี่ยงให้ครูอยู่กับนักเรียน 2 ต่อ 2 หรือครูที่มีพฤติกรรมปัญหาอยู่แล้วและย้ายเข้ามาจะรับมืออย่างไร รวมไปถึงกระบวนการรับมือสถานการณ์เฉพาะหน้าเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น จะช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาเด็กอย่างไร

ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เรื่องละเมิดทางเพศในโรงเรียน ตนมองว่า เป็นตัณหาของมนุษย์ที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคม ทั้งปัญหาทางกฎหมาย และการนำกฎหมายไปใช้ สำหรับความผิดทางกฎหมายเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ แบ่งเป็น ข่มขืน กระทำชำเรา และกระทำอนาจาร ซึ่งมีโทษลดหลั่นตามลำดับ แต่จะมีโทษรุนแรงขึ้นหากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็มีความผิด ส่วนการเอาโทษที่รุนแรงขึ้นคือ การกระทำความผิดต่อผู้สืบสันดาน คนในความปกครองพิทักษ์ หรือศิษย์ที่ต้องดูแล ต้องระวางโทษมากกว่าที่กำหนด 1 ใน 3 และเป็นความผิดที่ไม่อาจยอมความได้ ซึ่งในส่วนของครูนั้นต้องเป็นครูที่มีหน้าที่ดูแลศิษย์ และขณะทำอยู่ในเวลาที่มีหน้าที่ด้วย หากเป็นครูทั่วไปไม่ได้มีหน้าที่สอนก็จะไม่เข้าข่าย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีแค่กฎหมายลหุโทษเท่านั้นที่มีประเด็นเรื่องอำนาจเหนือผู้อื่น เช่น นายจ้าง หากล่วงเกินทางเพศ จึงมีความผิด แต่ก็เป็นความผิดลหุโทษ ยังไม่มีการขยายแนวคิดเรื่องอำนาจเหนือผู้อื่นไปยังกฎหมายเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งต่างประเทศมีแล้วโดยไม่ต้องมาตีความว่าเป็นครูที่ดูแลศิษย์หรือไม่

ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวว่า ส่วนปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายนั้น คือความยากในการดำเนินคดี เนื่องจากผู้เสียหายหรือผู้ถูกกระทำ รับผลกระทบทางจิตใจ เนื้อตัวร่างกาย มีความกลัว ความอาย และกังวลว่า ถ้าลุกขึ้นมาพูดอะไร จะมีคนดำเนินการให้หรือไม่ ถูกสังคมมองอย่างไร แปดเปื้อนไปแล้วหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่เด็ก รวมถึงผู้ใหญ่ด้วย ก็ไม่สามารถลุกขึ้นและเรียกร้องตรงนี้ได้ และพิสูจน์ความผิดก็ยาก เพราะเกิดในที่ลับตา อยู่กัน 2 - 3 คน หากต้องตรวจร่างกายผู้เสียหายก็กลัว หรือการพิสูจน์เรื่องความยินยอมหรือไม่ก็ยาก แค่ไหนเรียกว่ายินยอม แต่หากอายุต่ำกว่า 15 ปี จะง่ายขึ้นเพราะไม่ต้องพิสูจน์ว่ายินยอมหรือไม่ และหากเป็นครูที่มีหน้าที่ต่อศิษย์ก็จะรับโทษหนักขึ้น สำหรับประเด็นการทำให้กระบวนการพิสูจน์ที่ยากทำให้ง่ายขึ้นนั้น ทำไม่ได้ เพราะการดำเนินคดีอาญาเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากกระทบกับสิทธิเสรีภาพผู้ถูกกล่าวหาเช่นกัน หากถูกกลั่นแกล้ง ก็เสียชื่อเสียง ต้องมีกระบวนการทำอย่างไรให้เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย พิสูจน์ค้นหาความจริงได้ ที่น่าห่วงคือศาลสังคมออนไลน์ที่ตัดสินทันทีที่ได้ข่าว หรือฟังข่าวข้างเดียวไปก่อน รวมถึงสื่อต้องให้ความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์โดยไม่เปิดเผยตัวตน ซึ่งหากทำได้ก็จะช่วยปรับทัศนคติสังคมด้วย

ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวว่า สำหรับมาตรการดูแลปกป้องผู้เสียหายระหว่างดำเนินคดี มองว่าต้องทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องปฏิบัติต่อผู้เสียหายถูกต้องเป็นธรรมและเห็นใจ และมีมาตรฐานการดำเนินคดีประเภทนี้ ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการสอบสวนเฉพาะเรื่องทางเพศ ทำอย่างไรถึงมีไกด์ไลน์ชัดเจน หากมีเรื่องเข้ามาต้องรายงานอย่างไร โรงเรียนดูแลเด็กอย่างไร ต้องเป็นความลับ ซึ่งคนที่จะเข้ามาทำเรื่องนี้ก็ต้องผ่านการอบรมโดยเฉพาะ ทุกโรงพักควรมีคนผ่านการอบรมเรื่องนี้ เชี่ยวชาญดำเนินคดีเรื่องอย่างนี้เลย การตั้งคำถามเป็นอย่างไร ถามรวดเร็วตรงประเด็นมากที่สุด หากส่งต่อโรงพยาบาลก็ต้องรู้ว่าตรวจตรงไหน และให้ถูกตรวจเพียงครั้งเดียวไม่ต้องตรวจซ้ำอีก มิเช่นนั้นก็เหมือนการถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำอีกจากกระบวนการยุติธรรม

น.ส.จิตติมา ภาณุเตชะ มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องเพศในสังคมไทย ต้องมองให้เห็นว่าเรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตก่อน ถ้าไม่เข้าใจความเป็นมนุษย์ในมิติเรื่องเพศก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ และเราจะอยู่กับมันอย่างไร ซึ่งการบอกสอนเรื่องเพศก็มีหลายอย่างและต่างกัน ทำให้เกิดความไม่สมดุลได้ ก็ต้องมาดูว่าผู้หญิงถูกสอนอย่างไร ผู้ชายถูกสอนอย่างไร อย่างเมื่อก่อนจะพบว่านักเรียนหญิงชอบครูชาย แบบนี้ต้องจัดการกับความรู้สึกตัวเองอย่างไร มีการสอนหรือไม่ ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องเพศในสังคมไทยต้องบอกว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยมีวิธีช่วยเหลือเด็กเลย มีแต่การรักษาหน้าผู้ใหญ่ เช่น การจับแต่งงาน เพื่อให้จบเร็วสุด แต่เรื่องเด็กไม่จบ จบแต่ผู้ใหญ่ เป็นต้น ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ยังไม่มีนโยบายชัดเจนในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ มีเพียงศูนย์ช่วยเหลือเฉพาะกิจ แต่ก็ยังเป็นการทำงานแบบรวมศูนย์ ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้โรงเรียนจัดการตัวเองได้ แก้ไขได้โดยไม่ต้องมาออกสื่อ มีกระบวนการจัดการภายในให้ได้

น.ส.จิตติมา กล่าวว่า ข้อเสนอในการเพิ่มการแก้ปัญหาจัดการเรื่องเพศในโรงเรียน ในส่วนของงานป้องกันคือทำโรงเรียนให้เป็นที่ปลอดภัย ไม่กดขี่รุนแรง สร้างความฉลาดรู้เรื่องเพศในโรงเรียน ต้องทำ 3 ระบบพร้อมกันคือ หลักสูตรวิชาในห้องเรียน สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการไม่ล้อเลียน หรือเรื่องทางเพศ และมีช่องทางในการรับฟังเสียงของผู้เสียหาย สำหรับการสร้างความฉลาดทางเพศมองว่า สามารถทำได้ตั้งแต่อนุบาลถึงมหาวิทยาลัย เช่น การปฐมนิเทศนักศึกษามหาวิทยาลัย นอกจากแนะนำเรื่องอาหาร หอพัก อาจแนะนำเรื่องเมื่อมีปัญหาเรื่องเพศขอความช่วยเหลือได้ที่ไหนอย่างไร รวมถึงระบบในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ต้องมีคณะกรรมการเรื่องทางเพศชัดเจน ให้ความเป็นธรรมทั้งคนถูกร้องและประสบปัญหา





กำลังโหลดความคิดเห็น