xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายมีลูกคนที่สองต้องตอบโจทย์คุณภาพด้วย /สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อไม่นานนี้ได้มีโอกาสเจอน้องคนหนึ่งที่เคยไปเป็น “แนนนี่” หรือพี่เลี้ยงเด็กที่สหรัฐอเมริกา ทำให้ได้รื้อฟื้นเรื่องราวเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วที่เด็กสาวคนนี้เคยมาขอเป็นพี่เลี้ยงของลูกดิฉันเป็นเวลา 3 เดือน

ช่วงนั้นลูกดิฉันยังเล็กทั้ง 2 คน เธอจบปริญญาตรี และอยากไปตามหาฝันที่สหรัฐอเมริกา โดยได้เรียนหนังสือไปด้วย มีที่พักฟรี ได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษ และยังได้ค่าตอบแทนอีก เพียงแต่ต้องไปเลี้ยงลูกให้ครอบครัวชาวอเมริกันที่มีลูกเล็กที่นั่น

และเป็นที่มาที่เธอมาหาดิฉัน เพราะต้องการมีประสบการณ์ในการเลี้ยงดูเด็ก และให้ดิฉันเป็นคนเซ็นรับรองว่าเคยเลี้ยงดูลูกดิฉันเป็นเวลา 3 เดือน เป็นเงื่อนไขที่เธอจะต้องทำแบบนี้กับ 2 ครอบครัว จึงจะได้เดินทางไปเป็นแนนนี่ที่รัฐแคนซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา

สุดท้ายเธอก็ได้เดินทางไปตามความฝัน และจนถึงปัจจุบันก็ยังมีรุ่นน้องรุ่นแล้วรุ่นเล่าที่เลือกเดินทางสายนี้อีกไม่น้อย ซึ่งมีทั้งคนที่โชคดี และคนที่ต้องผิดหวัง ต้องเดินทางกลับก่อนกำหนด เพราะเจอครอบครัวไม่ดีบ้างก็มี

ครอบครัวชาวอเมริกันนิยมชมชอบแนนนี่ชาวเอเชียมากเป็นพิเศษ เพราะเมื่อเทียบค่าแรงแล้ว แนนนี่ชาวเอเชียถูกกว่ามาก อีกทั้งแนนนี่ยังต้องพึ่งพาอาศัยพวกเขาอีกด้วย ทำให้ครอบครัวใหม่ที่เพิ่งมีลูกจึงนิยมชมชอบให้เอเยนซีจัดหาแนนนี่ชาวเอเชียเป็นส่วนใหญ่

ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้เกิดโครงการออแพร์อเมริกา เป็นโครงการพี่เลี้ยงเด็ก ภายใต้กฎหมายสหรัฐอเมริกาที่ออแพร์ถือวีซ่าประเภท J-1 นักเรียนแลกเปลี่ยน (Cultural Exchange Visitor) เปิดโอกาสให้เยาวชนจากนานาประเทศได้มาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมผ่านการทำงานเลี้ยงเด็ก พร้อมมีรายได้จากการทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็ก

แนนนี่จะได้รับเงินค่าแรงจากการทำงานสัปดาห์ละไม่ต่ำกว่า 176.85 เหรียญ ต่อการทำงานไม่เกิน 45 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และได้รับการสนับสนุนค่าเล่าเรียนจากครอบครัวนั้นๆ สูงสุดไม่เกิน 500 เหรียญ มีวันหยุดประจำสัปดาห์ และวันหยุดพักร้อนสองอาทิตย์ที่ได้รับค่าแรงตามปกติ

ประเทศอื่นๆ ฝั่งตะวันตกก็รายได้ดีไม่แพ้กัน ธุรกิจแนนนี่ในสกอตแลนด์เติบโตขึ้น 50% เอเยนซีที่จัดหาบริการแนนนี่ก็เพิ่มราว 40% และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของพ่อแม่รุ่นใหม่ ปัจจุบันแนนนี่ในอังกฤษและสกอตแลนด์มีรายได้ประมาณการปีละกว่า 30,000 ปอนด์

เหลียวมามองแนนนี่ในบ้านเราบ้าง ก็เต็มไปด้วยชาวต่างชาติเหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างด้าว ที่กำลังทำให้เด็กทารกในวันนี้กำลังจะโตขึ้นมาพูดภาษาไทย หรือภาษาแม่ไม่ชัดกันซะแล้ว

ปัจจุบันพี่เลี้ยงเด็ก หรือสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อน Nursery เนิร์สเซอรี่ กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมเมืองบ้านเราไปแล้ว ไม่ว่าจะครอบครัวเดี่ยว หรือครอบครัวขยาย ส่วนใหญ่ก็ไม่อาจที่จะหลีกเลี่ยงหาพี่เลี้ยงเด็กมาช่วยเลี้ยงได้

พี่เลี้ยงเด็กในบ้านเราเป็นปัญหามาโดยตลอด ทั้งขาดแคลน ทั้งไม่ได้คุณภาพ ไม่มีมาตราฐาน ไม่มีกฎเกณฑ์กติกาใดๆ !

และแม้กระทั่งข่าวคราวพี่เลี้ยงทำร้ายเด็กก็มีมากมาย แต่ความต้องการพี่เลี้ยงเด็กในบ้านเราก็ยังคงอยู่ และปัญหาก็เพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ เพราะปัจจุบันพี่เลี้ยงเด็กในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นชาวต่างด้าว และไม่น้อยก็อยู่แบบผิดกฎหมาย เวลาเกิดเหตุการณ์กระทำความผิด นายจ้างก็ไม่กล้าแจ้งความเพราะก็จ้างแรงงานผิดกฎหมาย ในขณะที่ลูกจ้างก็มักจะหายตัวตามหาไม่เจอ

แม้จะมีความพยายามที่จะหาพี่เลี้ยงโดยมีประวัติที่มา เช่น บุคคลแนะนำ หรือมาจากศูนย์เลี้ยงเด็ก เพื่อให้ผ่านการคัดกรองมาระดับหนึ่ง พยายามหาหลักฐานที่แสดงตัวตร และข้อมูลที่จำเป็นของพี่เลี้ยงเด็ก แต่ก็ยังไม่สามารถรับประกันได้อยู่ดี ถ้ารัฐบาลไม่เอาจริงเอาจังในเรื่องนี้

ล่าสุด เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการทางภาษีเรื่องการลดหย่อนภาษีบุตรคนที่ 2 ที่ชอบด้วยกฎหมายที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป เพิ่มเป็น 6 หมื่นบาทต่อปี จากเดิม 3 หมื่นบาท พร้อมเตรียมประกาศร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้มีเงินได้บุตรคู่สมรส สามารถนำค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไปหักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 6 หมื่นบาท ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง

รวมทั้งยังมีมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ประกอบการในการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็ก สามารถนำค่าใช้จ่ายตามที่จ่ายจริงในการจัดตั้งศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ตามที่ระเบียบหลักเกณฑ์กำหนดไว้ และตามที่จ่ายจริงลดหย่อนภาษีเงินได้เป็น 2 เท่าตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท สำหรับค่าใช่จ่ายในรอบบัญชี 1 มกราคม 2561 ถึง 31 มกราคม 2563

เป็นเรื่องที่ดีที่ภาครัฐเตรียมรองรับเรื่องนี้ เพราะบ้านเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ !

จากโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบกับอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่อย่าลืมว่า อัตราการเกิดที่ลดลงจากค่านิยมที่พ่อแม่ยุคนี้ไม่อยากมีลูก หรือเลือกมีคนเดียวพอ บ้านเรายังเผชิญกับปัญหาท้องไม่พร้อมด้วย ทำให้เด็กที่เกิดมามีความเสี่ยงทั้งด้านการเจริญเติบโตทางด้านร่างกาย ซึ่งการเลี้ยงดูในภาวะที่ไม่พร้อมส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กในด้านต่างๆ ว่าผลกระทบระยะยาวต่อเด็กทำให้ไม่สามารถเติบโตได้เต็มตามศักยภาพ เหล่านี้เป็นปัจจัยกระตุ้นเตือนที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญอย่างจริงจัง กับการดูแลเด็กให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพเพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่จะขับเคลื่อนสังคมไทยต่อไปในอนาคต

เรื่องแนนนี่หรือพี่เลี้ยงเด็กเป็นเพียงตัวอย่างเดียว ที่ชี้ให้เห็นว่า ถ้าภาครัฐไม่ลงมากำกับสร้างมาตรฐานให้เกิดคุณภาพ มองเห็นความสำคัญทั้งระบบที่มีความเกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นไปอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการให้พ่อแม่มีความรู้ในการเรื่องการเลี้ยงดูเด็กอย่างถูกวิธี การศึกษาในระบบที่เต็มไปด้วยสารพันปัญหา และสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ ฯลฯ

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องได้รับการพัฒนาคู่ขนานไปด้วย

มิเช่นนั้น ต่อให้มีนโยบายกระตุ้นให้พ่อแม่มีลูกคนที่สอง แต่ไม่ได้สร้างองค์ประกอบอื่นๆ เพื่อเตรียมความพร้อมในการสร้าง “คุณภาพ” ของคน เราก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อยู่ดี

ยิ่งเมื่อเด็กเกิดน้อย สิ่งที่เป็นโจทย์ใหญ่ของภาครัฐ ก็คือ ทำอย่างไรให้อัตราที่เกิดน้อย ให้เป็นคนคุณภาพให้ได้ต่างหาก


กำลังโหลดความคิดเห็น