ผศ.นพ.มนต์ชัย เรืองชัยนิคม
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
เคยสังเกตหรือไม่ ว่า เวลาเจอใครต่อใคร มักจะบ่นเกี่ยวกับอาการปวดหลังบ้าง เป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมบ้าง แล้วเป็นกันมากด้วย โรคนี้เกิดได้อย่างไร มาคลายข้อสงสัยกัน
โรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม แบ่งสาเหตุออกเป็น 2 ประเด็นหลัก
ประเด็นแรกจากตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งได้แก่
- อายุ เป็นประเด็นหลักที่จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้ง่าย จะเริ่มเสื่อมเมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไป อายุเพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ
- น้ำหนัก ผู้ป่วยที่รูปร่างใหญ่ น้ำหนักมาก หมอนรองกระดูกสันหลังต้องรับน้ำหนักค่อนข้างมาก ความเสื่อมก็จะเกิดขึ้นเร็ว
ประเด็นที่สองจากกิจกรรม ซึ่งได้แก่
- กิจกรรม เวลาที่ผู้ป่วยก้ม ๆ เงย ๆ ยกของหนัก ก็จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้โดยง่าย หรือผู้ที่ต้องนั่งนานๆ ขับรถทางไกลมากๆ ก็จะทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมได้ง่ายเช่นกัน
- อุบัติเหตุ ผู้ที่เคยมีอุบัติเหตุ จะเป็นเหตุให้กระดูกสันหลังเสื่อมได้เร็วกว่าคนทั่วไป สัญญาณเตือนเบื้องต้นของโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม จะเริ่มจากอาการปวดหลังพอเป็นมากขึ้นก็จะปวดไปยังบริเวณสะโพก เนื่องจากหมอนรองกระดูกสันหลังอยู่ใกล้ส่วนที่เป็นเส้นประสาทจะส่งผลให้บางครั้งอาจมีอาการชาบริเวณขา มีอาการอ่อนแรงได้บ้างเล็กน้อย แต่ในกรณีที่มีเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกสันหลังปลิ้นออกมาไปกดส่วนที่เป็นเส้นประสาทจะทำให้เกิดอาการปวดมาก บางรายถึงขนาดเดินตัวเอียง บางรายปวดรุนแรง เดินไม่ไหว ปวดร้าวไปที่ขา มีอาการชา อ่อนแรงที่บริเวณขา และสิ่งที่สำคัญ ก็คือ เกี่ยวกับเรื่องปัสสาวะและอุจจาระ แนะนำว่าถ้ามีอาการผิดปกติให้รีบมาโรงพยาบาลทันที
ในการวินิจฉัยแพทย์จะซักประวัติถึงอาการปวดหลัง อาการปวดร้าวลงขา ระบบทางเดินปัสสาวะและอุจจาระว่าผิดปกติหรือไม่ และจะทำการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัย ว่า มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือไม่ และทำการตรวจเอกซเรย์เพื่อดูแนวกระดูกสันหลัง ในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทำให้การวินิจฉัยหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมแม่นยำมากขึ้น ด้วยการทำ MRI ซึ่งการทำ MRI จะบอกได้ว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
ส่วนการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อม ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สามารถหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ในเบื้องต้นจะให้ทานยาและทำกายภาพบำบัด ในคนที่มีการปวดร้าวลงขาอาจใช้การฉีดยาลดการปวดตามเส้นประสาททำให้อาการดีขึ้นและใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ในบางกรณีที่มีอาการรุนแรงมีข้อบ่งชี้สำหรับการผ่าตัด อาจใช้เทคนิคในการผ่าตัดต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีมากมาย ที่จะมาช่วยในการผ่าตัดเพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพดียิ่งๆ ขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม การป้องกันสำคัญที่สุด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมีความสำคัญมาก หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ไม่ควรจะนั่งนาน ไม่ขับรถทางไกล เพื่อให้หมอนรองกระดูกสันหลังอยู่คู่กับเราไปนานๆ
********
กิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช
#เนื่องจากจะมีการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ศิริราชพิมุขสถาน จึงปิดให้บริการระหว่างวันที่ 29 มกราคม - 31 กรกฎาคม 2561 สำหรับพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราชยังเปิดให้บริการตามปกติ สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2419 2617
#คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (ภาคพิเศษ) ปีการศึกษา 2561 รับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 20 เมษายน 2561 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://shee.si.mahidol.ac.th/master และสมัครทางออนไลน์ได้ที่ http://www.grad.mahidol.ac.th สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ความป็นเลิศด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์สุขภาพ (ศศว) โทร. 0 2419 6637 หรือ 0 2419 6461 (รัตนสุดา / นัดดา)
#ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ปรับปรุงข้อมูลการรับบริจาคร่างกาย เพื่อให้นักศึกษาแพทย์นำไปศึกษาหรือที่เรียกว่า “อาจารย์ใหญ่” ใหม่ และหมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ในการติดต่อประสานงานการรับบริจาคร่างกาย รวมทั้งสอบถามข้อมูลและการจัดการเมื่ออาจารย์ใหญ่เสียชีวิต ในวันเวลาราชการ โทร. 0 2419 7036 และทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.30-20.30 น. โทร. 0 2419 8584, 08 6104 1704 (ณัฐชยา อมรเมตตาจิต) หากนอกเวลาดังกล่าวกรุณาติดต่อในวันถัดไปตั้งแต่เวลา 08.30 น.