xs
xsm
sm
md
lg

3 ข้อต้องรู้ก่อนอัปไซส์ “เต้า”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สบส. แนะสาวๆ คำนึง 3 ข้อ ก่อนพึ่ง “หมอ” อัปไซส์เต้า ต้องสมวัย สมเหตุ และสถานที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงศัลยกรรมผิดพลาด อันตรายถึงชีวิต

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ด้วยค่านิยมในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับรูปลักษณ์เป็นอันดับหนึ่ง ส่งผลให้ประชาชนต่างให้ความสนใจในบริการทางด้านการแพทย์และเสริมความงามเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในบริการที่สุภาพสตรีต่างให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ คือ การศัลยกรรมเสริมหน้าอก อาจจะด้วยวัตถุประสงค์เพื่อความสวยความงาม หรือตกแต่งหน้าอกภายหลังการผ่าตัดเต้านม แม้ว่าการศัลยกรรมเสริมความงามจะเป็นสิทธิส่วนบุคคล แต่มิใช่ทุกรายที่จะสามารถศัลยกรรมเสริมหน้าอกได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย และได้รับบริการที่เหมาะสมตรงกับความต้องการ กรม สบส.จึงขอแนะหลัก “3 สม” ให้พึงระลึกใช้ก่อนรับบริการศัลยกรรมเสริมหน้าอก หรือเสริมความงามประเภทอื่นๆ ดังนี้

1. สมวัย การรับบริการศัลยกรรมเสริมความงามทุกประเภท โดยเฉพาะการเสริมหน้าอกเพื่อความงามควรทำในช่วงอายุที่เหมาะสมให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ไม่ควรทำในช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่น เนื่องจากขนาดหน้าอกของผู้หญิงสามารถเพิ่มขึ้นได้จนถึงประมาณอายุ 20 - 22 ปี รวมทั้งผู้ที่มีอาการติดเชื้อ, ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือเคยมีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านม และหญิงที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตรไม่ควรศัลยกรรมเสริมหน้าอก เนื่องจากการศัลยกรรมเสริมหน้าอกอาจมีผลต่อการรักษาอาการติดเชื้อ/โรคมะเร็ง และเป็นข้อคำนึงด้านความปลอดภัยของหญิงกำลังตั้งครรภ์และให้นมบุตร

2. สมเหตุ พิจารณาอย่างถี่ถ้วน คำนึงถึงความจำเป็น และประโยชน์ที่จะได้รับก่อนตัดสินใจรับบริการศัลยกรรม อย่าตัดสินใจรับบริการตามคำโฆษณาชักชวนว่าดี ราคาถูกกว่าแห่งอื่น หรือทำเพราะเห็นว่าเป็นที่นิยม และ 3. สถานที่เหมาะสม เลือกรับบริการจากสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย หากเป็นการศัลยกรรมเสริมหน้าอกจะต้องกระทำในห้องผ่าตัดที่ได้มาตรฐานและมีวิสัญญีแพทย์เป็นผู้ดำเนินการให้ยาระงับความรู้สึก เพื่อความปลอดภัยของผู้รับบริการ หากรับบริการจากคลินิกเถื่อน ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย ทั้งการติดเชื้อทำให้มีอาการอักเสบ ระคายเคือง ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อบริเวณเต้านมตาย,เต้านมหลังการผ่าตัดมีขนาด รูปร่าง หรืออยู่ในระดับที่ไม่เท่ากัน จนถึงขั้นเกิดอันตรายต่อชีวิตผู้รับบริการ

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบหลักฐานสถานพยาบาล ว่า มีการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่โดย 1. ป้ายชื่อคลินิกมีการแสดงเลขที่ใบอนุญาต 11 หลัก 2. มีการแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการคลินิก โดยเลขใบอนุญาตต้องตรงกับเลขที่ที่ติดที่ป้ายชื่อคลินิก3.มีการแสดงหลักฐานการชำระค่าธรรมเนียมคลินิกเป็นปีปัจจุบัน 4. มีการแสดงหลักฐานของแพทย์ที่ให้บริการในคลินิก โดยมี ชื่อ-นามสกุล และภาพถ่ายติดที่หน้าห้องตรวจรักษา โดยสามารถตรวจสอบชื่อคลินิกได้ที่เว็บไซต์สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรม สบส. (www.mrd-hss.moph.go.th) และตรวจสอบชื่อแพทย์ได้ที่เว็บไซต์แพทยสภา (www.tmc.or.th) หากไม่พบรายชื่อหรือหลักฐานที่ต้องแสดงไม่ครบถ้วนไม่ควรรับบริการโดยเด็ดขาด


กำลังโหลดความคิดเห็น