xs
xsm
sm
md
lg

BDMS ห่วง “มะเร็ง” แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แนะ 5 ทำ 5 ไม่ ช่วยห่างไกลโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและทั่วโลก นายแพทย์ ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ ในโรงพยาบาลกลุ่มบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS เปิดเผยว่า จากการประมาณการคนไข้มะเร็งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 5% ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

“โรคมะเร็งเป็นปัญหาของคนทั่วโลก และแนวโน้มคนไข้ก็เพิ่มขึ้นทั่วทั้งโลก โดยประเทศไทยพบว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 5% ทุกปี โดยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเฉลี่ยปีละ 8 หมื่นคน และพบคนไข้รายใหม่ประมาณ 1.5 แสนคนต่อปี ขณะที่ระดับโลกพบการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากถึงปีละ 8 ล้านคน และแนวโน้มการเสียชีวิตก็มากขึ้นเป็น 17 ล้านคน ในปี 2573 โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน แนวโน้มก็สูงขึ้นเช่นกัน” นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าว

สำหรับปัญหาโรคมะเร็งที่น่าห่วงของประเทศไทยนั้น นายแพทย์ ธีรวุฒิ ระบุว่า เรื่องนี้ต้องแยกให้ชัดเจน เพราะหากดูจากมะเร็งที่พบบ่อยในประเทศไทย โดยโรคมะเร็งที่พบมากทั้งในสองเพศก็ยังคงเป็น มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ทวารหนัก แต่หากถามว่าโรคมะเร็งที่น่าห่วงและเป็นปัญหาจริงๆ นั้น ต้องพิจารณาจากการคำนวณอัตราส่วนการตาย (Mortality/Incidence Ratio) คือ อัตราส่วนระหว่างอัตราตายของโรคในช่วงเวลาหนึ่ง หารด้วยอัตราอุบัติการณ์ของโรคนั้นในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น ปีหนึ่งๆ เป็นมะเร็ง 1.5 แสนราย เสียชีวิต 8 หมื่นราย ก็ใช้ 8 หมื่นหารด้วย 1.5 แสน คิดออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์

จากการคิดคำนวณด้วยวิธีดังกล่าวในมะเร็งแต่ละชนิด พบว่า อัตราตายของโรคมะเร็งตับสูงที่สุด อยู่ที่ประมาณ 90% มะเร็งปอด 80% มะเร็งลำไส้ 50% มะเร็งปากมดลูก 50% และมะเร็งเต้านมอยู่ที่ 35% จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่า แม้มะเร็งเต้านมจะพบอัตราการเกิดมาก แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยอยู่ที่ประมาณ 35% หมายถึงการรักษาถือว่าอยู่ในระดับที่ดี โอกาสหายขาดมาก แต่ทว่ามะเร็งตับพบเมื่อมีอาการแล้วโอกาสหายขาดน้อยมาก" นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าว

นายแพทย์ ธีรวุฒิ อธิบายว่า ที่ต้องดูค่านี้แทนจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็ง เนื่องจากปัจจุบันมีการส่งเสริมให้มีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งมากขึ้น ย่อมเป็นปกติที่จะพบการเกิดโรคมะเร็งมากขึ้น ซึ่งการที่คนใส่ใจมาตรวจมากขึ้นถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะหากยิ่งพบเจอมะเร็งเร็ว เจอในระยะแรกเริ่ม โอกาสการรักษาหายขาดค่อนข้างสูง ดังนั้น การที่มีจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งมาก จึงไม่ใช่ตัวบ่งชี้ว่าโรคมะเร็งนั้นเป็นปัญหา แต่เมื่อมาคำนวณถึงอัตราส่วนการตายเช่นนี้จะทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า โรคมะเร็งชนิดไหนที่น่าห่วง อย่างโรคมะเร็งตับ มะเร็งปอดถือว่ามีอัตราเสียชีวิตสูง ถือว่าน่าเป็นห่วง แต่ก็ไม่ใช่ว่าการรักษาของประเทศไทยไม่ดี เพราะทั่วโลกก็มีอัตราการตายสูงเช่นกัน เพียงแต่ในส่วนของโรคมะเร็งเต้านมนั้น หากเป็นสหรัฐอเมริกาอัตราส่วนการตายอยู่ที่ประมาณ 5% เท่านั้น แสดงว่าของประเทศไทยแม้การรักษาจะดี แต่การตรวจค้นเจอในระยะแรกของประเทศไทยยังน้อย คืออาจมาตรวจเจอในช่วงที่ลุกลามไปแล้ว แต่ถามว่าการรักษายังดีหรือไม่ คือการรักษาดี ซึ่งหากตรวจเจอในระยะแรกเริ่มเพิ่มมากขึ้น เชื่อว่าอัตราส่วนการตายนี้จะยิ่งลดลง

นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าวว่า การจะลดอัตราการตายนั้น เริ่มแรกก็ต้องย้อนกลับไปที่การป้องกันไม่ให้เกิดโรคก่อน อย่างมะเร็งตับและมะเร็งปอด ตรงนี้เป็นเรื่องของการเน้นเชิงป้องกันเป็นหลัก อย่างมะเร็งปอด สาเหตุสำคัญมาจาก “บุหรี่” ก็ต้องลดปัจจัยเสี่ยงคือไม่สูบบุหรี่ แต่หลายคนจะคิดว่าก็ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้อีก ถ้าคิดเช่นนี้ก็จบ เนื่องจากบางอย่างเราป้องกันไม่ได้ แต่อย่างบุหรี่ที่เป็นปัจจัยก่อโรคนั้นเราสามารถป้องกันได้ ก็ต้องป้องกันในส่วนที่เราป้องกันได้ก่อน

นายแพทย์ ธีรวุฒิ กล่าวว่า ส่วนมะเร็งตับนั้น ก็ต้องฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี งดดื่มเครื่องอื่มแอลกอฮอล์ที่ทำให้ตับแข็ง ตับอักเสบจนเป็นมะเร็งตับได้ หรือไม่กินปลาน้ำจืดดิบ ที่มีไข่พยาธิใบไม้ ที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งตับชนิดท่อน้ำดี เป็นต้น

สำหรับมะเร็งชนิดอื่น อย่างมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งเต้านม เป็นต้น นายแพทย์ ธีรวุฒิ บอกว่า ต้องอาศัยการตรวจคัดกรองเป็นประจำ จะสามารถช่วยป้องกันและลดอัตราการตายได้ เพราะหากพบเจอในระยะแรกก็จะเข้าสู่การรักษาได้เร็ว โอกาสหายขาดสูง ยิ่งมะเร็งปากมดลูกพบเจอตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็งก็เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคมะเร็งได้ด้วย

นายแพทย์ ธีรวุฒิ แนะนำว่า โดยสรุปแล้วหากต้องการห่างไกลจากโรคมะเร็ง ให้ยึดหลักปฏิบัติ “5 ทำ 5 ไม่ ห่างไกลมะเร็ง” โดย 5 ทำคือ

1. ออกกำลังกายเป็นนิจ โดยโรคมะเร็งมีความสัมพันธ์กับการออกกำลังกาย พบว่า การออกกำลังกายช่วยลดอุบัติการเกิดโรคมะเร็งและหัวใจได้ เนื่องจากความอ้วนและความเครียดเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็ง โดยควรออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมตามดัชนีมวลกาย

2. ทำจิตแจ่มใส เนื่องจากความเครียดเป็นสาเหตุที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายต่ำลง และส่งเสริมการเกิดโรคมะเร็งได้ การทำจิตใจให้แจ่มใสช่วยคลายเครียดและส่งเสริมภูมิต้านทาน ทำได้โดยกิจกรรมสันทนาการทุกรูปแบบ การทำบุญตามวิธีแห่งศาสนา ทัศนศึกษา รวมถึงการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

3. กินผักผลไม้ เพราะมีสารต้านมะเร็ง และยังมีเส้นใยอาหาร ทำหน้าที่คล้ายแปรงไปกระตุ้นผนังลำไส้ให้สร้างเมือกมากขึ้น ทำให้เพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับเยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่และลดการเกิดโรคมะเร็งได้ โดยกินผัก ผลไม้ ให้ได้ครึ่งหนึ่งของปริมาณอาหารในแต่ละมื้อหรือประมาณ 500 กรัมต่อวัน

4. อาหารหลากหลาย โดยกิน อาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่ซ้ำซาก จำเจ และใหม่สด สะอาด ปราศจากเชื้อรา ลด อาหารที่ไขมันสูง อาหารปิ้ง ย่าง ทอดที่ไหม้เกรียม เนื้อสัตว์สีแดงและอาหารหมักดอง หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารดินประสิวและไนโตรซามีน

และ 5. ตรวจร่างกายเป็นประจำ ทำให้รู้ว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดใด เพื่อเฝ้าระวังได้อย่างถูกต้อง หากพบว่าเป็นมะเร็ง จะสามารถตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งสามารถรักษาได้เพราะมะเร็งยังไม่ลุกลาม

สำหรับ “5 ไม่” คือ

1. ไม่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งไต และมะเร็งปากมดลูก โดย 80% ของโรคมะเร็งปอดเกิดจากการสูบบุหรี่

2. ไม่มีเซ็กซ์มั่ว ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก จากการติดเชื้อ HPV โดยไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย มีเพศสัมพันธ์เมื่อถึงวัยอันควร หรือใช้ถุงยางอนามัย

3. ไม่มัวเมาสุรา เพราะเสี่ยงกับมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งหลอดอาหาร

4. ไม่ตากแดดจ้า เพราะแสงแดดมีรังสีอัลตราไวโอเลตที่เป็นปัจจัยต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง โดยหลีกเลี่ยงแสงแดด ช่วงที่มีอัลตราไวโอเลตสูง ใช้ครีมกันแดด ที่มีค่า SPF มากกว่าหรือเท่ากับ 15 ขึ้นไป

และ 5. ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ ช่วยลดความเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดี


กำลังโหลดความคิดเห็น