xs
xsm
sm
md
lg

ชวนพ่อแม่ปรับพฤติกรรมรับปีใหม่ “7 ลด 6 เพิ่ม” / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก้าวเข้าสู่ปีจอกันแล้ว หลายครอบครัวได้ไปพักผ่อนชาร์จแบตชีวิตสนุกสนานเบิกบานใจกันหลายวันแล้ว ก็อย่าลืมมีช่วงเวลาของการทบทวนชีวิต ทบทวนบทบาทของการเป็นพ่อแม่ในช่วงปีที่ผ่านมา ว่า เราเป็นพ่อแม่แบบไหน มีสถานการณ์ไหนที่เราเป็นพ่อแม่ที่ดีและไม่ดีไปบ้างหรือไม่ ถือโอกาสช่วงเทศกาลปีใหม่ทบทวนตัวเองว่าเป็นอย่างไร มีพฤติกรรมอะไรที่ควรจะ “ลด” และ “เพิ่ม” รับปีใหม่หรือไม่  

มาลองสำรวจกันดูค่ะ และต่อไปนี้ก็เป็นตัวอย่างของพฤติกรรมที่ควร “ลด” และควร “เพิ่ม” เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสำรวจ 

พฤติกรรมที่ชวน “ลด” 

หนึ่ง - ลดการบ่น 

เราเข้าข่ายเป็นพ่อแม่ขี้บ่นหรือไม่ ข้อนี้ลูกอาจช่วยเราตอบได้นะคะว่าเราชอบบ่นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ จุกจิกจู้จี้ตลอดหรือเปล่า เพราะไม่มีใครหรอกที่ชอบพฤติกรรมอย่างนี้ เราเป็นผู้ใหญ่ยังไม่ชอบเลย แล้วลูกของเราก็ย่อมไม่ชอบด้วยเช่นกัน ฟังดูอาจจะยากสำหรับคนเป็นพ่อแม่ เอาเป็นว่าตั้งใจไว้ว่าปีนี้จะบ่นน้อยลงให้ได้ละกัน 

สอง - ลดการดุด่าว่ากล่าว 

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ประเภทช่างตำหนิไปซะทุกเรื่อง ทั้งยังชอบโมโหหรือโกรธลูกบ่อยๆ  ถ้าใช่ เห็นทีจะต้องปรับลดดีกรีลงให้ได้ เพราะพฤติกรรมเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อใครเลย มีแต่จะทำให้ครอบครัวแตกร้าว ใจลูกก็เสีย บรรยากาศก็ไม่น่าอยู่ ยิ่งถ้าขาดสติก็อาจทำให้เกิดความรุนแรงตามมาได้ ทั้งวาจาท่าทางที่อาจส่งผลร้ายแรงในภายหลังตามมาได้ จริงอยู่ว่าบางพฤติกรรมของลูกก็น่าโมโห แต่ลองปรับเปลี่ยนวิธีแทนที่จะดุด่าว่ากล่าว เปลี่ยนมาเป็นชวนพูดคุยแบบเปิดอกกันดีกว่า 

สาม - ลดอารมณ์ที่ไม่คงที่

ลองสำรวจดูว่าเราเป็นพ่อแม่ที่เวลาอารมณ์ดีก็ดีใจหาย เวลาอารมณ์เสียก็เหวี่ยงสุดฤทธิ์หรือไม่ แล้วอารมณ์เสียบ่อยไหม ประเภทกลับมาบ้าน เห็นลูกกำลังเล่นโดยยังไม่ทำการบ้าน ก็อารมณ์เสียใส่ลูกทันที ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ก็น่าสงสารลูก เพราะต้องมาคอยรับอารมณ์ของพ่อหรือแม่ที่พกมาจากนอกบ้าน แล้วนำติดเข้ามาในบ้าน จนลูกๆ เข้าหน้าไม่ติด  หรือเวลาอารมณ์ดี ลูกอยากได้อะไรก็ให้หมดซึ่งบางทีก็ไม่สมเหตุสมผล สร้างความงงงวยให้กับลูกเพราะไม่รู้จะทำตัวอย่างไรเวลาอยู่กับพ่อแม่  

สี่ - ลดการใช้มือถือ 

งานวิจัยหลายชิ้นที่สะท้อนให้เห็นว่าพ่อแม่ยุคนี้ติดสมาร์ทโฟน ไม่ค่อยได้สนใจลูกเหมือนในอดีต จนบางทีปล่อยให้เกิดอุบัติเหตุกับลูก อย่าลืมว่าในเมื่อเราก็ไม่อยากให้ลูกมีพฤติกรรมติดสมาร์ทโฟน หรือ ติดเกม พ่อแม่ก็ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย ควรมีกฎกติกาการอยู่ร่วมกันในครอบครัวแบบมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน มิใช่อยู่ด้วยกันแต่ต่างคนต่างอยู่กับสมาร์ทโฟนของใครของมัน และเมื่อต่างคนต่างติดสมาร์ทโฟน ก็เสมือนต่างคนต่างอยู่ เวลาเกิดปัญหาอะไรก็ขาดการสื่อสารกันจนกลายมาเป็นปัญหาในภายหลังได้  

ห้า - ลดความคาดหวัง 

ความคาดหวังไม่เป็นผลดีกับใครเลย ยิ่งถ้าพ่อแม่คาดหวังกับลูกก็ประหนึ่งใส่ความกดดันเข้าไปที่ตัวลูกต้องทำตามที่พ่อแม่คาดหวังไว้ ซึ่งอาจไม่ใช่สิ่งที่ลูกต้องการ หรือไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวเขา และเมื่อไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ก็ตามมาด้วยความผิดหวัง ความเสียใจ ซึ่งก็ไปเพิ่มความกดดันให้กับลูกอีก สุดท้ายทุกคนก็เครียดกันไปหมด  

หก - ลดการคิดแทนหรือตัดสินใจให้ลูก 

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ประเภทที่ต้องจัดการทุกสิ่งอย่างให้ลูก หรือต้องคิดแทนลูกด้วยล่ะก็  เหนื่อยใจแทนลูกค่ะ แม้คุณจะบอกว่าที่บอกให้ทำเพราะรัก แต่ถ้าเป็นการบังคับจิตใจย่อมไม่เกิดผลดีแน่ จริงอยู่ลูกอาจจะทำตามพ่อแม่ เพราะรักพ่อแม่ เขาทำสิ่งนั้น เพราะพ่อแม่บอกให้เขาทำ แต่เขาไม่ได้ทำเพราะรัก อย่าลืมว่าทุกคนต้องมีชีวิตของตัวเอง ให้เขาได้เรียนรู้จักตัวเอง เลือกหนทางชีวิตของตัวเอง โดยมีคุณเป็นโค้ช มิใช่เจ้าชีวิตของลูก 

เจ็ด - ลดการกวดวิชาลง 

การเรียนรู้หรือพัฒนาตัวเองมีอยู่รอบตัว พ่อแม่ไม่ควรให้ลูกเรียน เรียน เรียนและเรียนอย่างเดียว เด็กบางคนนอกจากเรียนปกติในห้องเรียนแล้ว ยังต้องเรียนกวดวิชาแบบระห่ำทั้งหลังเลิกเรียน หรือแม้กระทั่งเสาร์อาทิตย์ จนแทบไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมอื่น ลองลดเวลาเรียนกวดวิชาของลูกลง แล้วใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกับลูกมากขึ้น แล้วคุณจะค้นพบความสุขที่แท้จริง  

พฤติกรรมที่ชวน “เพิ่ม” 

หนึ่ง - เพิ่มเวลา 

ถ้าคุณเป็นพ่อแม่ที่ชอบพูดว่าไม่มีเวลา ต้องหันมาสำรวจตัวเองแล้วล่ะค่ะว่าเราทำงานหนักไปเพื่ออะไรกัน ถ้าคำตอบเพื่อหาเงินมาดูแลลูก  ลองถามลูกดูว่าลูกต้องการสิ่งของหรือสิ่งอำนวยความสะดวก หรีอต้องการอยู่กับพ่อแม่มากกว่ากัน เวลาเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับลูกน้อย ถ้าในวัยเด็กเล็กเราไม่มีเวลาอยู่กับเขา เมื่อเขาเติบโตขึ้นมีชีวิตของตัวเองและเริ่มติดเพื่อน ในขณะที่พ่อแม่เริ่มมีเวลา ก็กลายเป็นว่าเมื่อถึงเวลานั้นลูกก็ไม่อยากอยู่กับพ่อแม่ซะแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้วก็อย่าได้โทษลูกเลยค่ะ 

สอง - เพิ่มวิธีคิดบวก 

วิธีคิดบวกเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับพ่อแม่ที่ต้องมีต่อลูก เพราะการคิดบวกจะส่งต่อวิธีคิดไปสู่ลูกด้วย ยกตัวอย่าง ถ้าสถานการณ์ที่ลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แทนที่พ่อแม่จะใช้วิธีดุด่าว่ากล่าว อาจเปลี่ยนไปใช้วิธีพูดเพื่อให้กำลังใจที่เชื่อว่าลูกสามารถแก้ไขได้และปรับปรุงได้ เรียกว่ามีเป้าหมายเหมือนกันอยากให้ลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม แต่วิธีการที่ใช้อยู่ที่ว่าจะใช้แรงบวกเสริมพฤติกรรม หรือใช้วิธีตำหนิเพื่อให้ลูกทำ เพราะสุดท้ายผลที่ได้ก็ต่างกัน และได้รับความร่วมมือต่างกัน 

สาม - เพิ่มกิจกรรมครอบครัว 

ถ้าคุณมีเวลาเพิ่มมากขึ้น ก็จะทำให้มีการเพิ่มกิจกรรมครอบครัวไปในตัว สามารถคิดกิจกรรมสำหรับครอบครัวให้เหมาะสมกับวัยของลูก ทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีด้วย เพราะการมีกิจกรรมครอบครัวที่ดีอย่างสม่ำเสมอจะเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นของการพูดคุยกันทุกเรื่องในครอบครัว  

สี่ - เพิ่มการรับฟัง 

ถ้าปีที่ผ่านมา คุณไม่ค่อยได้รับฟังลูกเท่าใดนัก ก็จงถือโอกาสนี้ในการเปิดใจและรับฟังลูกให้มากขึ้น การรับฟังเป็นจุดเริ่มต้นของการทำความเข้าใจ และการสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน พ่อแม่จะได้เข้าใจ

วิธีคิดของลูกว่าลูกคิดอย่างไรต่อเรื่องนั้นๆ และจะทำให้เราสามารถสอดแทรกบางเรื่องที่ต้องการให้ลูกเรียนรู้ได้ด้วย 

ห้า - เพิ่มทักษะสร้างสรรค์ 

ถ้าสามารถลดการเรียนกวดวิชาลง ก็สามารถเพิ่มกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เหมาะกับลูกได้ เริ่มจากกิจกรรมที่ลูกชอบ และกิจกรรมที่สามารถเพิ่มทักษะชีวิตให้ลูกนอกห้องเรียนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะชีวิตที่ไปเสริมความมั่นใจ เสริมศักยภาพบางด้านของลูก  

หก - เพิ่มความไว้วางใจ 

พ่อแม่ขี้ระแวงทั้งหลายมักไม่ไว้ใจลูก ไม่คิดว่าลูกจะทำได้ กังวล วิตกไปซะทุกเรื่อง ลูกเติบโตขึ้นทุกวัน พ่อแม่ต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ไว้ใจลูกเสมอ เปิดโอกาสให้เขาได้ทำอะไรด้วยตัวเอง อย่าเล็งผลเลิศว่าต้องสำเร็จทุกเรื่อง แต่สิ่งสำคัญคือให้เขาได้กล้าแสดงออก ให้เขาได้รับรู้ว่าพ่อแม่ไว้วางใจเขาเสมอ จะทำให้ลูกเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และเขาจะเติบโตขึ้นไปด้วยความไว้วางใจผู้อื่นต่อไปด้วย 

“7 ลด 6 เพิ่ม” ข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างทั่วๆ ไปเท่านั้น แต่ละครอบครัวยังจะมีลักษณะเฉพาะที่จะเพิ่มเติมได้อีกค่ะ 

ลงมือทำเสียแต่วันนี้ บางทีก็อาจจะเป็นคำตอบให้กับคำถามที่ยังตอบไม่ได้ในปีที่ผ่านๆ มาก็เป็นได้


กำลังโหลดความคิดเห็น