xs
xsm
sm
md
lg

ควันบุหรี่มือสองคร่าชีวิตคนไทย 6.5 พันคนต่อปี จี้ทำบ้าน-ที่ทำงานปลอดควัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ควันบุหรี่มือสอง” คร่าชีวิตคนไทยถึง 6,500 คนต่อปี WHO ชี้ เลี่ยงการตายได้ด้วยการทำบ้าน - ที่ทำงานปลอดควันบุหรี่ ชี้ กม. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ช่วยลดพิษภัยได้

นพ.แดเนียล เคอร์เทซ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การสำรวจขององค์การอนามัยโลก ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2558 พบว่า เด็กนักเรียนไทย 1 ใน 3 ได้รับควันบุหรี่มือสองจากที่บ้าน และยังมีการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2557 มีคนไทยประมาณ 15.2 ล้านคน ต้องรับควันบุหรี่มือสองในบ้านของตนเอง ส่วนสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับ สสส. และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และเครือข่าย จับมือกันทำโครงการ “บ้านปลอดบุหรี่” (Smoke Free Home) เพื่อรณรงค์เชิงรุกให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของควันบุหรี่มือสอง

“การตายจากสาเหตุได้รับควันบุหรี่มือสองนั้นสามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยทำให้บ้านและสถานที่ทำงานปลอดบุหรี่อย่างเด็ดขาด จะช่วยลดพิษภัยจากควันบุหรี่มือสองในผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และไม่เป็นแบบอย่างการสูบให้กลุ่มเยาวชน ทั้งลดทอนค่านิยมการสูบบุหรี่ในสังคมลงได้ด้วย ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบอย่างเข้มแข็งของรัฐบาล ทำให้ควันบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ปิดลดลงอย่างชัดเจน หากร่วมกันทำให้บ้านและที่ทำงานปลอดควันบุหรี่มือสอง จะยิ่งทำให้เด็ก เยาวชน รวมถึงกลุ่มผู้หญิง คนไม่สูบบุหรี่อยู่ในสภาพแวดล้อมปลอดภัย” นพ.แดเนียล กล่าว

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ในปีนี้ ประเทศไทยบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ซึ่งสอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) กำหนดมาตรการลดการใช้ยาสูบและสูดดมควันบุหรี่มือสอง ให้คนไทยทุกคนต้องรับผิดชอบปกป้องสุขภาพของตนเองและครอบครัวจากบุหรี่มือสอง โดยทำให้บ้าน และยานพาหนะเป็นที่ที่ปลอดบุหรี่ สอนให้เด็กอยู่ให้พ้นจากควันบุหรี่มือสอง และต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่สูบบุหรี่ หรือใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท

เป็นที่แน่ชัดว่า การใช้ยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการตาย ทั้งที่ป้องกันได้ การเสียชีวิตมากกว่า 51,000 คนต่อปี เป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากโรคที่บุหรี่เป็นต้นเหตุสูงถึง 7.5 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในแต่ละปี สำหรับทั่วโลก ประชากรราว 7 ล้านคนต่อปีเสียชีวิตจากการใช้ยาสูบ และอีกกว่า 890,000 คน ต้องสิ้นลมด้วยควันบุหรี่มือสอง ขณะที่ประเทศไทยพบการเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองคร่าถึง 6,500 คนต่อปี ด้วยโรคมะเร็ง หัวใจล้มเหลว และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง
กำลังโหลดความคิดเห็น