xs
xsm
sm
md
lg

ฝากคำถามถึงชาวแว้น “ค่าหมวก” กับ “ค่าหัว” อะไรแพงกว่ากัน แค่เสี้ยววินาทีก็เกิดเหตุได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทยร่วม 9 ประเทศเอเชียใต้ - ตะวันออก ทำพันธสัญญา “ภูเก็ต” เดินหน้าลดเจ็บตายอุบัติเหตุให้ได้ 50% ตามเป้าในอีก 3 ปี เน้นกลุ่มเปราะบาง แว้นมอเตอร์ไซค์ ดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว จิ้มสมาร์ทโฟน “หมอปิยะสกล” ชี้ ต้องทำให้ประชาชนตระหนักเรื่องอุบัติเหตุ ดูแลตัวเองได้ พร้อมถามชวนคิด “ค่าหมวกกันน็อก” กับ “ค่าหัว” อะไรแพงกว่ากัน

วันนี้ (1 ธ.ค.) ที่โรงแรมฮิลตัน ภูเก็ต อาร์เคเดีย รีสอร์ท แอนด์ สปา นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้ และ ตะวันออก เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พ.ย.- 1 ธ.ค. 2560 ว่า สหประชาชาติประกาศทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะครบ 10 ปี ในปี 2563 โดยประเทศสมาชิกจะต้องลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรให้ได้ครึ่งหนึ่ง ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีก 3 ปี ทั้งประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียใต้ และ ตะวันออก ต่างเจอปัญหาคล้ายกัน คือ ลดจำนวนลงได้ยากมาก จึงนำมาสู่การประชุมร่วมกัน เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์ที่แตกต่างและหลากหลายว่าจะเดินหน้าต่อและร่วมมือกันอย่างไร ซึ่งในการประชุมถือเป็นการประชุมระดับสูงครั้งแรกที่นำผู้กำหนดนโยบายระหว่างภาคส่วนต่างๆ มาประชุมร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีภาคประชาสังคม เอกชน และตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วม รวมถึงผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UNICEF, JICA

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ผลการประชุมนี้ ทั้ง 10 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฎาน เกาหลีเหนือ อินเดีย อินโดนีเซีย มัลดีฟส์ พม่า เนปาล ศรีลังกา และ ประเทศไทย จึงจัดทำ “พันธสัญญาภูเก็ต” ขึ้น มีสาระสำคัญ คือ ข้อแนะนำระดับนโยบาย 6 กลุ่ม ได้แก่ จัดลำดับสำคัญ คำมั่นระดับสูง ชักจูงสามัคคี ต้องมีปัญญา นำพากฎหมาย และร่วมใจมุ่งเป้า โดยข้อสรุปสำคัญ คือ ทุกประเทศจะร่วมมือกันและนำพันธสัญญาภูเก็ตไปเร่งรัดการดำเนิน โดยมุ่งเน้นผู้ใช้ถนนกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบเป็นสัดส่วนสูง และเน้นความเข้าใจและการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากรักษาการบาดเจ็บในภาคสุขภาพ เป็นแค่ปลายทางของปัญหา การป้องกัน จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างไรก็ตาม แม้การแก้ปัญหาการลดอุบัติเหตุทางถนนจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่การจะลดปัญหาได้อย่างยั่งยืนอยู่ที่การทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญและตระหนักถึงความปลอดภัย เพราะทราบว่ากำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะดำเนินการมีน้อย เนื่องจากมีภารกิจหน้าที่อย่างอื่นนอกจากงานจราจรอีกมาก

“อย่างการสวมหมวกกันน็อก หรือ คาดเข็มขัดนิรภัย มีความสำคัญมาก เพราะสามารถลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุได้ถึง 1 ใน 3 ซึ่งอยากถามว่าค่าหมวกกับค่าหัวอะไรแพงกว่ากัน จึงไม่สวมหมวกกันน็อก ซึ่งบางคนเห็นว่าระยะทางใกล้จึงไม่สวม แต่ทราบหรือไม่ว่าเพียงแค่เสี้ยววินาทีก็นำมาซึ่งความสูญเสียได้แล้ว การทำให้ประชาชนตระหนัก ดูแลตัวเองให้ได้ จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญที่รัฐบาลจะส่งเสริม อย่าง จ.ภูเก็ต ถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีการรณรงค์และส่งเสริมให้มีการสวมหมวกกันน็อกได้สูงมาก โดยมีอัตราสวมอยู่ที่ 60% ส่วนกรุงเทพฯ อยู่ที่ 70% ซึ่งหากสามารถทำให้ประชาชนตระหนักตรงนี้ได้ ความเสียหายรุนแรงจากอุบัติเหตุจะลดลงไปมาก เพราะกว่า 80% ของอุบัติเหตุมาจากการขับขี่จักรยานยนต์” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ดร.พูนาม เคทตราปาล ซิงห์ ผู้อำนวยการสำนักองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก กล่าวว่า ในภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออกมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนวันละ 865 ราย สำหรับระยะ 3 ปีข้างหน้า จะมุ่งเน้นการลดอัตราตายและบาดเจ็บในผู้ใช้ถนนกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้ขับขี่จักรยานและจักรยานยนต์ คนเดินถนน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นที่มักใช้ความเร็วสูง ดื่มแอลกอฮอล์ และปัจจุบันยังมีการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างการขับรถด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น