xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แจงวิกฤตการเงิน รพ.ดีขึ้น หลังลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ชี้ บริจาคทางหนึ่ง ปชช.ช่วย รพ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รมว.สธ. แจง รพ. ขาดสภาพคล่องเรื้อรังมานาน เหตุงบไม่เพียงพอ ผู้สูงอายุเพิ่มเจ็บป่วยมากขึ้น เทคโนโลยีสูงขึ้น ทำค่าใช้จ่ายสุขภาพพุ่ง แต่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น หลัง รบ. เพิ่มงบประมาณ ปรับวิธีจัดสรรงบบัตรทอง ส่วน รพ. ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ชี้ การบริจาคมีมานานแล้ว ชม “ตูน บอดี้สแลม” เห็นปัญหาและออกมาช่วยเหลือ ขอคนไทยยึดเป็นแบบอย่าง หารือกรมบัญชีกลาง ตั้งกองทุนเงินบริจาค รพ. โปร่งใส ตรวจสอบได้ ใช้ตามวัตถุประสงค์ผู้บริจาค

วันนี้ (6 พ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เรื่องสภาพคล่องทางการเงินของโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ว่า โรงพยาบาลสังกัด สธ. มีประมาณ 10,000 กว่าแห่ง เป็นโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) จำนวน 100 กว่าแห่ง โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) จำนวน 800 กว่าแห่ง และ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีกจำนวน 9,000 กว่าแห่ง ดูแลสุขภาพประชาชนทั้งประเทศประมาณ 70% ในจำนวนนี้ย่อมมีบ้างที่ประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งต้องยอมรับว่าไม่มีประเทศไหนในโลกที่มีงบประมาณด้านสุขภาพและการดูแลสุขภาพประชาชนที่เพียงพอ แม้จะเป็นประเทศที่มีรายได้มากอย่างอังกฤษ หรือ ญี่ปุ่น ส่วนประเทศไทยรัฐบาลได้จัดสรรงบด้านสุขภาพลงมาอย่างจำกัด แม้ปีที่ผ่านมาจะได้รับการจัดสรรเพิ่มขึ้น ทั้งที่งบประมาณั้งประเทศลดลง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ประกอบกับสัดส่วนผู้สูงอายุมากขึ้นถึง 1 ใน 4 ย่อมมีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดาและเข้ารับการดูแลรักษา ขณะที่เทคโนโลยีในการรักษาสูงขึ้นและราคาแพงขึ้น

“โรงพยาบาลที่ประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อ 1 - 2 ปี แต่เกิดมาหลายปีแล้ว และมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา สธ. มีการประเมินอย่างใกล้ชิดและร่วมกันแก้ปัญหา ทำให้สถานการณ์ค่อยๆ ลดลงมา โดยปีงบประมาณ 2559 ประสบปัญหาวิกฤตการเงินระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดจำนวน 119 แห่ง แต่สิ้นปีงบประมาณ 2560 ลดลงเหลือ 87 แห่ง ถือว่าการบริหารจัดการเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณกลางปีให้เฉพาะ 5,000 ล้านบาท สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการปรับวิธีการสรรงบเหมาจ่ายรายหัวให้เกิดความสมดุลตามแต่ละพื้นที่ของ รพ. และมีการให้ความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแก่ผู้บริหาร รพ. ทำให้สามารถการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เช่น การรับบริจาคเข้า รพ. และการเปิดคลินิกพิเศษนอกเวลาใน รพ. ขนาดใหญ่ที่มีความแออัด และมีความพร้อมเพื่อให้ประชาชนสามารถมาใช้บริการนอกเวลา แต่เสียค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้น ทำให้ความแออัดของคนไข้ช่วงกลางวันลดลง ประชาชนได้รับบริการนอกเวลา ขณะที่แพทย์ไม่ต้องออกไปทำงานในคลินิก หรือ รพ.เอกชน ขณะที่ รพ. ก็ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในเวลาที่ควรจะปิด แต่ต้องเสียค่าเสื่อมไปเหมือนกันมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งขณะนี้มีการนำร่องไปแล้ว 9 แห่ง คือ รพ.วชิระภูเก็ต รพ.ป่าตอง จ.ภูเก็ต รพ.หาดใหญ่ จ.สงขลา รพ.ชลบุรี รพ.ระยอง รพ.หนองคาย รพ.ขอนแก่น รพ.นครพิงค์ และ รพ.ศรีสะเกษ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการติดตามประเมินผล โดยปี 2561 จะเปิดเพิ่มที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีคนออกมาตั้งคำถามถึงการวิ่งของ ตูน บอดี้สแลม เพื่อรับเงินบริจาคช่วยเหลือ รพ. 11 แห่ง นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า อย่างที่บอกว่าต้องยอมรับก่อนว่างบประมาณด้านสุขภาพไม่เพียงพอ และการบริจาคเงินสนับสนุนโรงพยาบาลก็มีมานานแล้ว คุณตูนเป็นคนหนึ่งที่เห็นปัญหา และมาร่วมช่วยเหลือ เพราะเข้าใจดีว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนคนไทยด้วยกัน ซึ่งไม่มีใครช่วยได้เท่ากับเราร่วมช่วยกันเอง ก็อยากให้คนไทยเห็นคุณตูนเป็นแบบอย่างที่จะช่วยแก้ปัญหา

เมื่อถามถึงการแยกส่วนระหว่างงบประมาณของรัฐและเงินบริจาค นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การบริจาคเงินเข้า รพ. มีมานานแล้ว จึงมีความชัดเจนในส่วนของการบริหารจัดการ โดย รพ. จะมีเงินที่เรียกว่าเงินบำรุง ซึ่งเป็นรายได้ของ รพ. เงินบริจาคจัดเป็นส่วนหนึ่งของเงินในส่วนนี้ที่ รพ. จะสามารถนำมาบริหารจัดการของตนเองได้ อย่างไรก็ตาม สธ. มีการหารือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดตั้งกองทุนเงินบริจาค ซึ่งจะมีคณะกรรมการดูแลรับผิดชอบ โดยมี ผอ.รพ. เป็นประธาน และมีภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมดูแล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งเงินบริจาคหากเป็นเงินที่ผู้บริจาคแจ้งวัตถุประสงค์ชัดเจนก็จะดำเนินการตามนั้น เช่น บริจาคเพื่อผู้ป่วยยากไร้ หรือบริจาคเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ หากไม่ได้ระบุ รพ. ก็สามารถนำมาบริหารได้ แต่ รพ. จะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบอย่างชัดเจนว่า ผลที่เกิดขึ้นจากการบริจาคเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า การขาดสภาพคล่องทางการเงินของ รพ.สธ. จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ระบบบัตรทองมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นตลอด เพราะประชากรเพิ่มขึ้นแม้สัดส่วนไม่มาก แต่จำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และเทคโนโลยีในการรักษาสูงขึ้นและมีราคาแพง เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่ไม่ดีก็เพิ่มขึ้น ต้องยอมรับว่างบด้านสุขภาพไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น นโยบายของรัฐพยายามมุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและคุ้มครองผู้บริโภค ถ้าทุกภาคส่วนช่วยกันให้ประชาชนตระหนักในการดูแลสุขภาพให้เจ็บป่วยน้อยที่สุด แม้งบด้านนี้จะเพิ่มขึ้นน้อยก็จะเพียงพอ อย่าปล่อยให้ภาครัฐทำเพียงอย่างเดียว แต่ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะ รพ. เป็นของชุมชนท้องถิ่น ของคนไทย ไม่ใช่ของรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น