xs
xsm
sm
md
lg

รพ.จุฬาฯ เตรียมเพิ่มทีมแพทย์วันพระราชพิธี กรมสุขภาพจิตกรองเข้มกลุ่มเสี่ยงก่อเหตุรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีมแพทย์เผย วันซ้อมริ้วขบวนฯ พบประชาชนเป็นลมจากอากาศร้อน รพ.จุฬาฯ เตรียมเพิ่มบุคลากรดูแลวันพระราชพิธีอีกเท่าตัว พร้อมขยายพื้นที่ดูแลผู้ป่วยในศาลหลักเมือง ด้าน สธ. ซักซ้อมทีมส่วนภูมิภาคดูแลประชาชน 3 เรื่อง ขณะที่ทีมสุขภาพจิตพร้อมเข้มคัดกรองกลุ่มเสี่ยงก่อความรุนแรง

วันนี้ (21 ต.ค.) ในพิธีซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศเสมือนจริง พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทีมบริการทางการแพทย์ได้มีการดูแลให้บริการประชาชน เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลประชาชนช่วงพระราชพิธี โดยส่วนใหญ่จะพบคนเป็นลมเนื่องจากความร้อน ทั้งประชาชนและจิตอาสา

ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า บริเวณศาลหลักเมืองถือเป็นจุดบริการทางการแพทย์อีกจุดหนึ่งในการดูแลประชาชน โดยส่วนมากจะพบประชาชนเป็นลม อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ช่วงวันพระราชพิธีจะมีประชาชนมาร่วมจับจองพื้นที่มากกว่าวันซ้อมริ้วขบวน ซึ่งจะมีการหารือว่าจะมีการขยายพื้นที่ดูแลผู้ป่วยภายในศาลหลักเมืองอย่างไร เพื่อให้เพียงพอกับการดูแลประชาชน สำหรับ รพ.จุฬาฯ มีบุคลากรเข้าร่วมดูแลประชาชนประมาณ 60 คน โดยช่วงวันพระราชพิธีจะเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ในการดูแลประชาชนอีกเท่าตัว

วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ รองปลัด สธ. ได้ประชุมวิดีโอทางไกลศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Operation Center : OC) ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจในการปฏิบัติงานด้านการแพทย์ช่วงวันพระราชพิธี โดย นพ.มรุต กล่าวว่า วันนี้ได้ซักซ้อมทำความเข้าใจใน 3 เรื่องหลัก คือ 1. ระบบสื่อสาร โดยได้มีการจัดเตรียมระบบสื่อสาร ทั้งในช่องทางหลักคือ โทรศัพท์ โทรสาร สื่อโซเซียล พร้อมระบบสำรอง ได้แก่ ระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ วิทยุสื่อสาร และวิทยุผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งขณะนี้ในระบบหลักทุกจังหวัดพร้อม 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนระบบสำรองพร้อมมากกว่า ร้อยละ 80

2. แผนการจัดบริการดูแลประชาชนด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในส่วนภูมิภาคได้รายงานความพร้อมของทีมปฏิบัติการ อาทิ แพทย์เฉพาะทาง ยาเวชภัณฑ์ ทีมแพทย์ประจำจุดพระราชพิธี ทีมแพทย์ฉุกเฉิน ทีมสุขภาพจิต ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรค ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสำรองเตียงรับผู้ป่วย รถพยาบาล โรงพยาบาลรับ - ส่งต่อ สำหรับในส่วนกลาง ระหว่างวันที่ 24 - 28 ตุลาคม 2560 ได้สนับสนุนทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์เคลื่อนที่เร็ว (Mini MERT) 15 ทีมจากเขตสุขภาพที่ 4, 5, 6 จำนวน 15 ทีมหมุนเวียนปฏิบัติงาน 24 ชั่วโมง และ 3. ทีมจิตอาสาเฉพาะกิจด้านการแพทย์ ได้จัดอบรมให้มีความรู้ด้านการปฐมพยาบาล ดูแลสุขภาพกาย-ใจ เบื้องต้น การใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้า (AED) ทุกจังหวัดจัดอบรมเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารในการปฏิบัติตัวในการเข้าร่วมพระราชพิธีฯ จากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและขอให้เตรียมพร้อมร่างกาย จิตใจ ให้พร้อมเข้าร่วมงานพระราชพิธี หากเจ็บป่วยฉุกเฉินให้แจ้งทีมแพทย์ที่กระจายอยู่ในพื้นที่จัดพระราชพิธี ให้สังเกตปลอกแขนสีขาว มีกากบาทสีเขียว หรือ โทร.สายด่วน 1669 และสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323

ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังลงพื้นที่เตรียมความพร้อมและให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทางการแพทย์ฝ่ายกายและทีมปฏิบัติการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจ ในพิธีซ้อมริ้วขบวนพระบรมราชอิสริยยศเสมือนจริง ว่า ทีมช่วยเหลือจิตใจพร้อมดูแลประชาชนอย่างเต็มที่จนเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีฯ โดยในส่วนกลางได้จัดทีมปฏิบัติหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน ตลอด 24 ชั่วโมง ประจำ 7 จุดบริการ ได้แก่ บริเวณพระเมรุมาศ ท่าช้าง ท่าเตียน กรมรักษาดินแดน เจดีย์ขาว โรงแรมรัตนโกสินทร์ และ กองสลากเดิม เน้นการปฐมพยาบาลทางใจ และจะเสริมกำลังด้วยทีมจิตอาสาทูบีนัมเบอร์วัน ร่วมเดินเท้าสำรวจค้นหาผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน เช่น แสดงอาการเศร้าโศกเสียใจรุนแรง หายใจเร็ว กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ตลอดจนกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วยเรื้อรัง ที่แสดงอารมณ์ความรู้สึกสูญเสีย ในวันงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ เพื่อให้การดูแลช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า จากการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง เริ่มพบผู้ป่วยจิตเวชแต่ยังไม่มากนัก ซึ่งได้ให้การดูแลช่วยเหลือส่งต่อเข้าสู่ระบบบริการรักษาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในการคัดกรองผู้ป่วยทางจิต เพื่อเฝ้าระวัง ที่จุดคัดกรองและจิตอาสานั้น เบื้องต้น จะสังเกตจาก การแต่งกาย เช่น เสื้อผ้ายับ สกปรก มีรอยเปื้อน หรือแต่งตัวแปลก ฉูดฉาด ไม่เหมาะสมเหมือนคนทั่วไป ผมเผ้ายุ่งเหยิง สกปรก มีกลิ่น มีท่าทางแปลกประหลาด เช่น พูดคนเดียว ทำไม้ทำมือ เมื่อชวนคุยแล้ว ถามตอบไม่ตรงประเด็น ไม่รู้เรื่อง ซึ่งไม่เกี่ยวกับภาษา หรือวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีอาการเมา หรือ มีกลิ่นสุรา หากพบว่ามีข้อใดข้อหนึ่ง จะนำเข้าสู่ระบบการประเมินความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง

“กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคจิตเวช ที่ขาดยา อาการกำเริบ ผู้ป่วยที่มีโรคทางสมอง หรือทางกาย ผู้ป่วยที่ใช้หรือถอนสุรา ผู้ที่ติดหรือใช้ยาเสพติดบางชนิดอย่างหนัก เช่น ยาบ้า ฯลฯ โดยจะประเมินจากระดับความรุนแรงของพฤติกรรมที่เกิดขึ้น คือ ระดับรุนแรงมาก เช่น มีการทำร้ายผู้อื่นจนได้รับบาดเจ็บ ทำลายข้าวของ ทุบกระจก ขว้างปาสิ่งของ เปลือยกาย และมีอาวุธพร้อมทำร้ายคนอื่น ระดับรุนแรงปานกลาง เช่น ด่าหยาบคาย แสดงท่าทางคุกคาม หงุดหงิด พูดจาข่มขู่ ท่าทางไม่เป็นมิตร และ ระดับรุนแรงน้อย เช่น อารมณ์หงุดหงิด พูดจาชวนทะเลาะ หรือพูดไม่รู้เรื่อง จับใจความไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งจะดำเนินการควบคุมพฤติกรรมที่เกิดขึ้นตามระดับความเสี่ยง ในเบื้องต้นจะใช้วิธีเข้าไปพูดคุยเพื่อแยกจากฝูงชน ทำการสงบสติอารมณ์ กินยา หรือ ฉีดยา ให้ญาตินำออก หรือจัดการแยกออกนอกพื้นที่ หากรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก จะผูกยึดและส่งต่อไปยังสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา” น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าว

น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเวช หากจะเข้าร่วมงานพระราชพิธีฯ ควรประเมินความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจในเบื้องต้นก่อน และไม่ควรมาเพียงลำพัง ควรมีญาติมาด้วย รับประทานอาหารและพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด พกซองยาที่มีชื่อตัวยามาด้วย ไม่ควรหยุดยาในช่วงที่มาร่วมพระราชพิธีฯ ถ้าลืมนำยาติดตัวมาหรือทำยาหายให้ติดต่อหน่วยทางการแพทย์ ตลอดจนเขียนชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ ญาติที่ติดต่อได้สะดวก เพื่อป้องกันการพลัดหลง เป็นต้น



กำลังโหลดความคิดเห็น