xs
xsm
sm
md
lg

ผู้สูงอายุใต้เสียฟันหมดปากมากสุด 11% ด้านหน่วยทันตกรรมหลายแห่งเปิดรักษาฟันฟรีถวายสมเด็จย่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หน่วยบริการทันตกรรมหลายแห่ง จัดรักษาฟันฟรีถวายพระราชกุศลสมเด็จย่า สถาบันทันตกรรมนำเครื่องเอกซเรย์ 3 มิติ ช่วยวินิจฉัย ขณะที่กรมอนามัยจัดประกวดผู้สูงอายุ 80 - 90 ปี มีฟันดี พร้อมเร่งรณรงค์ดูแลสุขภาพช่องปาก หวังลดสูญเสียฟันในผู้สูงอายุ เผย ภาคใต้คนแก่เสียฟันหมดปากสูงสุด 11%

วันนี้ (20 ต.ค.) ผูัสื่อข่าวรายงานว่า หน่วยบริการทันตกรรมหลายแห่งมีการเปิดให้บริการทำฟันฟรี เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ต.ค. ของทุกปี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เช่น คณะทันตแพทยศษสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ซึ่งเปิดให้บริการทำฟันฟรีแก่ผู้ป่วย 300 ราย พร้อมนำเครื่องสแกนทันตกรรมแบบ 3 มิติเปิดให้บริการ

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า สถาบันทันตกรรมเป็นหน่วยงานนำร่องในการนำเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทางทันตกรรม หรือ เครื่องเดนตีสแกน 2.0 มาใช้เพื่อให้บริการแก่ประชาชน โดยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยสวทช. และ วช. เป็นผู้ผลิตเครื่องเอกซเรย์ดังกล่าว และนำมาติดตั้ง

ทพ.บุญชู สุรีย์พงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวว่า เครื่องเดนตีสแกน 2.0 เป็นเครื่องสแกนแบบ 3 มิติ ซึ่งพัฒนามาจาก รุ่น 1.1 โดยล่าสุด เป็นเวอร์ชั่น 2.0 เป็นเครื่องที่มีรังสีต่ำสามารถสแกนโครงหน้าได้แบบ 3 มิติ เพื่อให้ทันตแพทย์สามารถมองเห็นโครงสร้างช่องปากและขากรรไกรของผู้ป่วยแบบ 360 องศา เพิ่มความถูกต้องแม่นยำในการผ่าตัดช่องปากผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในการรักษาทันตกรรมรากฟันเทียม ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าวมีราคาถูกกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ และได้รับมาตรฐาน ISO 13485 โดยได้นำมาให้บริการแก่ประชาชน เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติปีนี้

ด้าน กรมอนามัย จัดงานรณรงค์ “คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่า สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปาก” เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ พร้อมจัดกิจกรรมการประกวดผู้สูงอายุ 10 ยอดฟันดี วัย 80 ปี และ 90 ปี ระดับประเทศ เพื่อแบบอย่างที่ดีของการดูแลสุขภาพช่องปากที่ดีตั้งแต่เด็ก ส่งผลให้มีฟันบดเคี้ยวจนกระทั่งถึงสูงอายุ โดยปีนี้มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศวัย 90 ปี จำนวน 5 ราย ได้แก่ นายก๋อง จันทร์แก้ว จังหวัดเชียงใหม่ นางผิว แก้วประดิษฐ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช นายเริญ หงส์ขำ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายผาย สารธิมา จังหวัดอำนาจเจริญ และนางบุญชู ศรีลาออน จังหวัดกาฬสินธุ์

สำหรับรางวัลชนะเลิศวัย 80 ปี มี จำนวน 5 ราย ได้แก่ นายแยง แซ่ลี้ จังหวัดพะเยา นางประเทียบ สุขเกื้อ จังหวัดนครศรีธรรมราช นางมณี จารีมุข จังหวัดระนอง นางอำนวย งามสมมล จังหวัดสระบุรี และ นายบรรเทิง บุรานนท์ จังหวัดนครปฐม

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) จัดโครงการรณรงค์คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่า สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปาก เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และให้เดือนตุลาคมเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ดูแลสุขภาพช่องปากของคนไทย กระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพช่องปากตลอดชีวิตตั้งแต่เด็กไปจนสูงอายุ ซึ่งจากผลการสำรวจสภาวะทันตสาธารณสุข ครั้งที่ 7 ในปี 2555 พบว่า ผู้สูงอายุมีการสูญเสียฟันทั้งปากร้อยละ 7.2 ยังคงต้องการใส่ฟันเทียมทั้งปากร้อยละ 2.5 หรือประมาณ 236,000 คน และพบว่า ภาคใต้มีการสูญเสียฟันทั้งปากและความต้องการบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากสูงสุด ร้อยละ 11.2 และ 8.8 ตามลำดับ ขณะที่ภาคอื่นๆ ความต้องการบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากเป็นร้อยละ 2.0 - 4.6

“ที่ผ่านมา กรมอนามัยร่วมกับวิชาชีพทันตกรรมและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการฟันเทียมพระราชทานและการส่งเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา เพื่อสนองกระแสพระราชดำรัสของพระองค์ ความว่า “เวลา ไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” ทำให้ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปากทั่วประเทศได้รับบริการใส่ฟันเทียมพระราชทานเพื่อการเคี้ยวอาหารแล้วกว่า 390,000 คน ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุอย่างชัดเจนทั้งด้านกายภาพ อารมณ์ สังคม ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่ให้สิทธิ์ประชาชนได้ใส่ฟันเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะการใส่ฟันเทียมทั้งปากให้กับผู้สูงอายุที่มีต้นทุนประมาณ 6,000 บาทต่อคน โดยในปี 2561 ตั้งเป้าใส่ฟันเทียม 40,000 คน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีการสูญเสียฟันสูงที่สุดถึงร้อยละ 88 เหลือฟันใช้งานไม่ถึง 20 ซี่ ร้อยละ 37 ซึ่งปัญหาสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุที่พบได้บ่อย 7 อันดับ ได้แก่ การสูญเสียฟัน ฟันผุ และรากฟันผุ เหงือกอักเสบ ภาวะน้ำลายแห้ง แผลและมะเร็งช่องปาก ฟันสึก และโรคช่องปากที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน โดยกรมอนามัยได้ดำเนินงานแก้ไขปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันของประชาชนทุกกลุ่มวัย ตลอดจนรณรงค์ให้ประชาชนดูแลทำความสะอาดช่องปากและฟันเป็นประจำวัน แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ด้วยสูตร 2 : 2 : 2 คือ แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน แปรงฟันให้ทั่วทุกซี่ทุกด้านนาน 2 นาที และไม่รับประทานอาหารหลังแปรงฟันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง

กำลังโหลดความคิดเห็น