xs
xsm
sm
md
lg

“มารู้จักโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อ.นพ.วีรภัทร โอวัฒนาพานิช
ภาควิชาอายุรศาสตร์
มีผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน อยากทราบถึงโรคที่กำลังเป็นอยู่ ว่าเกิดจากอะไร จะมีวิธีการรักษาให้หายได้ไหม จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคนี้
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ที่เรามักเรียกกันว่า “ลิวคีเมีย” เกิดจากแบ่งตัวของเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนที่เติบโตผิดปกติเป็นจำนวนมากโดยแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือ ชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง แต่ในวันนี้จะขอพูดถึงโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันก่อน
โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในไขกระดูก ทำให้มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนของเซลล์ตัวอ่อนของเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว ซึ่งการแบ่งตัวดังกล่าวจะไปรบกวนระบบการสร้างเม็ดเลือดปกติของไขกระดูก
เนื่องจากเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวที่ปกติ และเกล็ดเลือดลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว จึงส่งผลให้ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันมักมีอาการที่พบบ่อย ได้แก่ อาการไข้ อ่อนเพลียจากภาวะซีด เลือดออกผิดปกติ อาจพบต่อมน้ำเหลืองโต ตับโต ม้ามโต น้ำหนักลด ปวดกระดูก ปวดข้อได้
นอกจากนั้น ยังพบว่าผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน บางรายอาจมีอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น ซึม สับสนเนื่องจากมีเซลล์มะเร็งแทรกตัวในเยื่อหุ้มสมอง
การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน แพทย์ใช้วิธีการตรวจเลือดและการตรวจไขกระดูกเป็นหลัก โดยขั้นแรก แพทย์จะเจาะเลือดตรวจระดับเม็ดเลือดขาว และดูสเมียร์เลือด เพื่อตรวจว่ามีเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อนหรือไม่ ถ้าพบเซลล์เม็ดเลือดขาวตัวอ่อน ก็จะทำการเจาะไขกระดูก เพื่อใช้ประกอบสำหรับการวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน และเพื่อใช้ประเมินพยากรณ์โรคจากการส่งตรวจความผิดปกติของโครโมโซม และยีนต่อไป
สำหรับการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน แพทย์จะใช้เคมีบำบัดเป็นหลัก เพื่อให้โรคสงบ หลังจากนั้น จะทำการปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยที่สามารถปลูกถ่ายไขกระดูกได้ ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าของยาเคมีบำบัด การดูแลผู้ป่วยขณะรับยาเคมีบำบัดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และการปลูกถ่ายไขกระดูกมีความก้าวหน้าอย่างมาก เพราะฉะนั้นจัดได้ว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวมีวิธีการรักษาให้หายขาดได้
ผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันจะมีภาวะติดเชื้อได้ง่าย ต้องดูแลตัวเองมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการดูแลสุขอนามัยส่วนตัว โดยเฉพาะสุขภาพปาก ฟัน เพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีการติดเชื้อได้ง่าย นอกจากนี้การรับประทานอาหารควรรับประทานเนื้อสัตว์ ผักที่ปรุงสุก ใหม่ ผลไม้ควรปอกเปลือกก่อนรับประทาน ดื่มน้ำมาก ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอกจากช่วยให้กล้ามเนื้อของร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยขับของเสียผ่านทางเหงื่อและเพิ่มปริมาณการไหลเวียนเลือด ทำให้เซลล์ต่างๆ ในระบบภูมิต้านทานทำลายสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคที่บริเวณอวัยวะต่างๆ ได้เร็วขึ้น และที่สำคัญ ควรมาพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ และหากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย หรือเลือดออกผิดปกติให้รีบมาปรึกษาแพทย์ในทันที

****************************
กิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช
#จัดงานฉลองครบรอบ 72 ปี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ พบกิจกรรมดี ๆ ให้ผู้ปกครองและหนูน้อยได้ร่วมสนุก ได้ความรู้ และเพลิดเพลิน ระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2560 เวลา 10.00 - 14.30 น. ณ โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช (ฟรี) สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2419 5960, 0 2419 5962 (วิภา สิริวรามาศ/ วันดี ทองใบศรี)
#ขอเชิญชม THE DR.OZ THAILAND BY SIRIRAJ รายการสุขภาพรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รพ.ศิริราช ติดตามชมได้ทุกวันอาทิตย์ เวลา 11.00 - 12.00 น. ที่ช่อง 340 ทรู เอ็ก ไซท์ เอช ดี  22 ต.ค. วัยทอง วัยว้าวุ่น, สัญญาณจากอุณหภูมิร่างกาย, ผู้หญิงก็มีซิกแพคได้, ทำความเข้าใจ วงจรไข่ตก  29 ต.ค. นวดตาไม่ช่วยรักษาโรคต้อหิน, การวัดอัตราการหายใจ, อันตรายจากยาแก้ปวด, หัวใจวายเฉียบพลันขณะออกกำลังกาย
กำลังโหลดความคิดเห็น