xs
xsm
sm
md
lg

พบยาฆ่าแมลงในผัก-ผลไม้ น้อยลง อาหารเจไร้ฉลากมักพบดีเอ็นเอสัตว์ปน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อย. เผยผลตรวจผักพบ ยาฆ่าแมลงตกค้าง 1.54% พบมากสุดในใบบัวบก ผลไม้พบ 1.67% พบมากสุดในสตรอเบอร์รี แต่แนวโน้มพบยาฆ่าแมลงน้อยลง ตรวจเจอดีเอ็นเอสัตว์ในอาหารเจ 3 ตัวอย่าง รอผลวิเคราะหือีก 7 ตัวอย่าง สธ. ย้ำ กินเจเน้นเต้าหู้ ถั่ว ผักผลไม้ปลอดสาร ได้ทั้งบุญทั้งสุขภาพ

วันนี้ (16 ต.ค.) ที่ตลาดรังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว “กินเจ อิ่มบุญ อิ่มใจ ปลอดภัย สุขภาพดี” วันที่ 20 - 28 ต.ค. 2560 ว่า อาหารเจจะเน้นพืชผักเป็นหลัก อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และโปรตีนจากถั่ว ซึ่งย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์และไขมัน ทำให้ระบบย่อยอาหาร ทั้งกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ได้หยุดพักจากการทำงานหนักมาตลอดปี ถุงน้ำดี ก็จะมีความแข็งแรงขึ้น และผักผลไม้มีกากใยที่ช่วยระบบขับถ่ายและการย่อยอาหารทำงานได้ดี ช่วยขับของเสียและสารพิษที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย และยังช่วยลดคอเลสเตอรอล ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย โดยการกินเจขอให้คำนึงถึงหลักโภชนาการ เพื่อไม่ให้ขาดโปรตีน หรือมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นจากการรับประทานแป้งมากเกินไป โดยรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลากหลาย เน้นเต้าหู้ โปรตีนเกษตร ถั่ว ธัญพืช และผักผลไม้หลากสี ที่สำคัญ ต้องไม่เค็ม ไม่หวาน และไม่มันมากเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ ปฏิบัติหน้าที่รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2560 อย. ได้สุ่มตรวจผัก ผลไม้ และอาหารเจในตลาด และโรงงานผลิตด้วยชุดทดสอบเบื้องต้น (Test- kit) พบว่า กลุ่มผักและผลไม้มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยผัก 56,927 ตัวอย่าง พบยาฆ่าแมลงตกค้างร้อยละ 1.54 มากที่สุด คือ ใบบัวบก รองลงมา ได้แก่ หัวไชเท้า พริกแห้ง หัวหอม และผักชีฝรั่ง ส่วนในผลไม้ตรวจ 3,885 ตัวอย่าง พบยาฆ่าแมลงตกค้างร้อยละ 1.67 มากที่สุด คือ สตรอเบอร์รี รองลงมา ได้แก่ ส้ม มะละกอ ลำไย มังคุด ส่วนผลิตภัณฑ์อาหารเจ เช่น ลูกชิ้นปลาเจ ไส้กรอกเจ โปรตีนเกษตร เนื้อหมูเทียมเจ หมูแผ่นเทียมเจ ปลาเค็มเจ เป็นต้น ผลการตรวจตลอดปีและก่อนเทศกาลกินเจ รวม 71 ตัวอย่าง พบมีดีเอ็นเอจำเพาะของเนื้อสัตว์ 3 ตัวอย่าง รอผลวิเคราะห์ 7 ตัวอย่าง ทั้งนี้ กรณีพบดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ถือว่าเป็นอาหารปลอม ผู้จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ผลิต/นำเข้าจะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 10 ปี และปรับไม่เกิน 5 พันบาทถึง 1 แสนบาท

นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารเจจากตลาดที่ประชาชนนิยมซื้อตั้งแต่ปี 2556 - 2559 พบว่า กลุ่มอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ทุกตัวอย่างไม่พบการใช้บอแรกซ์ แต่ร้อยละ 63 พบมีดีเอ็นเอของเนื้อสัตว์ปนเปื้อน ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ไม่มีฉลาก กลุ่มผักผลไม้ ที่สุ่มเก็บตัวอย่างจากตลาดค้าส่ง 5 แห่งทั่วประเทศ ในปี 2559 พบร้อยละ 3 มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ส่วนกลุ่มผักดองตรวจไม่พบกรดซาลิซิลิค แต่ร้อยละ 74.5 ตรวจพบวัตถุกันเสียเกินเกณฑ์มาตรฐาน พบมากในผักกาดดอง/เกี๊ยมฉ่ายยำ ไชโป้วฝอย อย่างไรก็ตาม วัตถุกันเสียนั้นมีความเป็นพิษต่ำ แต่หากได้รับในปริมาณที่สูงมากอาจทำให้เกิดอันตรายได้ สำหรับผู้ที่แพ้สารนี้อาจเกิดอาการผื่นคัน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย จึงไม่ควรบริโภคอาหารเหล่านี้ครั้งละมากๆ

กำลังโหลดความคิดเห็น