xs
xsm
sm
md
lg

สกัดเพิ่ม 6 คนไทย เตรียมลอบไปทำงานนวดเกาหลี แนะ 2 ช่องทางไปทำงานแบบถูก กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ก.แรงงาน สกัดเพิ่มอีก 6 คน เตรียมหนีไปทำงานนวด - เกษตร ที่เกาหลีใต้ ยอมรับถูกชักชวนทางสื่อออนไลน์ เผย มีคนไทยในเกาหลีใต้แสนคน ครึ่งหนึ่งพักเกินกำหนดเวลา ย้ำ งานนวดเกาหลีใต้เป็นอาชีพสงวนคนพิการทางสายตา เผย 2 ช่องทางไปทำที่เกาหลีใต้อย่างถูกต้อง

หลังจากกระทรวงแรงงานระงับการเดินทางของคนไทยที่จะลักลอบเดินทางไปทำงานที่ประเทศเกาหลีใต้ ตั้งแต่ ต.ค. 2559 - ส.ค. 2560 รวมกว่า 700 คนไปแล้วนั้น

ล่าสุด วันนี้ (5 ต.ค.) นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ได้รับแจ้งเบาะแสว่า จะมีนายหน้าและกลุ่มคนหางานจะลักลอบไปทำงานสาธารณรัฐเกาหลีอีก เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนหางานสุวรรณภูมิจึงได้เข้าตรวจสอบข้อเท็จจริงทุกสายการบิน ปรากฏว่า พบคนหางานจำนวน 6 คน มีพฤติการณ์จะลักลอบไปทำงานเกาหลีใต้ จึงได้เชิญทั้ง 6 คนมาสอบปากคำ ซึ่งทั้งหมดให้การยอมรับว่า จะลักลอบเดินทางไปทำงานนวดและงานเกษตรที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ โดยได้รับการชักชวนทางสื่อออนไลน์ เจ้าหน้าที่จึงได้ระงับการเดินทาง พร้อมกับชี้แจงให้ทราบถึงการไปทำงานหรือฝึกงานในต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่าต้องแจ้งหรือขออนุญาตต่อ กกจ. ก่อน

“จากข้อมูลกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า มีคนไทยพำนักอยู่ในเกาหลีใต้ประมาณกว่า 100,000 คน โดยมีผู้ที่พำนักเกินกำหนดเวลาจำนวนกว่า 50,000 คน เพราะปัจจุบันการเดินทางไปเกาหลีใต้ไม่ต้องใช้วีซ่า จึงเป็นเหตุให้ด่านตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีเพิ่มความเข้มงวดคนไทยที่จะเดินทางเข้าประเทศของตน สำหรับงานนวดนั้นเกาหลีใต้จะไม่มีการจ้างแรงงานต่างชาติแต่อย่างใด แต่จะสงวนไว้สำหรับชาวเกาหลีที่พิการทางสายตาที่ผ่านการอบรมแล้วเท่านั้น” นายวรานนท์ กล่าว

นายวรานนท์ กล่าวว่า ขอย้ำเตือนอีกครั้งว่า การทำงานในเกาหลีใต้ทำได้ 2 วิธี คือ 1. ภายใต้ระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (EPS) อนุญาตให้ทำงานได้ 5 กิจการ คือ กิจการอุตสาหกรรมการผลิต กิจการเกษตรกรรม/ปศุสัตว์  กิจการก่อสร้าง กิจการประมง และกิจการบริการ และจะต้องผ่านการทดสอบความสามารถภาษาเกาหลีก่อนจึงจะได้รับการจัดส่งรายชื่อให้นายจ้างเกาหลีคัดเลือกให้เข้าไปทำงาน และ 2. แรงงานต่างชาติประเภทช่างฝีมือ ซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติ หรือขอวีซ่าจากกระทรวงยุติธรรมสาธารณรัฐเกาหลี โดยต้องผ่านการทดสอบตามเกณฑ์มาตรฐานจาก ROTRA (Korea Trade – investment Promotion Agency) เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการคัดสรรคนงานที่มีทักษะฝีมือ หรือมีความสามารถผ่านระบบ HUNET KOREA

นายวรานนท์ กล่าวว่า คนงานไทยมีกระแสนิยมไปทำงานในเกาหลีใต้มากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้สาย/นายหน้า หรือบริษัทจัดหางานเถื่อนใช้เป็นช่องทางหลอกลวงได้ ปัจจุบันมักจะหลอกลวงทางสื่อออนไลน์ เพราะเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวง รักษาภาพลักษณ์ของคนไทย และไม่ให้กระทบต่อคนไทยที่ปฏิบัติถูกต้อง จึงขอให้อย่าหลงเชื่อผู้ที่ชักชวนให้ไปทำงานในต่างประเทศโดยผิดกฎหมาย โดยตรวจสอบข้อมูล ร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสการหลอกลวงได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร. 0-2248-4792 , 0-2245-6763 หรือสายด่วน 1694
กำลังโหลดความคิดเห็น