xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.บ้านกาญจน์ ชี้ “คุกคามทางเพศ” กม.เป็นแค่เสือกระดาษ เหตุระบบอุปถัมภ์ในหน่วยงาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผอ.บ้านกาญจน์ ชี้ ปัญหาคุกคามทางเพศ กฎหมายเป็นแค่เสือกระดาษ เหตุจากระบบอุปถัมภ์ในหน่วยงาน แนะทางออกเพิ่มคนนอกร่วมไต่สวน

วันนี้ (24 ส.ค.) ที่โรงแรมเอบีนา เฮาส์ ในเวทีเสวนา “คุกคามทางเพศไม่ใช่เรื่องส่วนตัว : รัฐกับการคุ้มครองผู้เสียหายและอำนวยความยุติธรรม” จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล แผนงานสุขภาวะผู้หญิงฯ สมาคมเพศวิถีศึกษา และมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายความผิดเกี่ยวกับเพศ ทั้งกฎหมายอาญา มาตรา 278 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 285 นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก็มีกฎ ก.พ. ว่าด้วยการกระทำการอันเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553 เพื่อให้เป็นเครื่องมือในการยับยั้งการคุกคามทางเพศ

“แต่สถานการณ์การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น กฎหมายกลับเป็นเพียงเสือกระดาษ ซึ่งมีสาเหตุจากสภาพสังคมไทย 4 ประการ คือ 1. มีระบบอุปถัมภ์ที่ไม่เคยตาย เหมือนแมลงสาบอายุยืน สกปรกแค่ไหนก็อยู่ได้ 2. ระบบอำนาจนิยมที่แข็งแรง 3. สังคมไทยยังมองผู้เสียหายอย่างมีอคติ คือ เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ก็มองว่าผู้เสียหายยินยอมหรือให้ท่า ทำให้ผู้เสียหายไม่กล้าเผยตัวหรือเรียกร้องสิทธิความปลอดภัยให้กับตนเอง และ 4.กระบวนการเอาผิดผู้กระทำภายใต้ระบบราชการมีความยุ่งยากซับซ้อน การสอบสวนมักใช้เวลานาน และยิ่งมีระบบอุปถัมภ์ซ้อนอยู่ ผู้กระทำผิดจึงไม่เกรงกลัวอะไร โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการที่คุกคามได้กระทำมาอย่างต่อเนื่องตลอด3 ปี จะไม่มีใครรู้เห็นพฤติกรรมเหล่านั้นเลยหรือ หรือรู้เห็นแต่ไม่ทำอะไร เพราะเขารับใช้นายเก่งหรือ ซึ่งฉากจบของการไต่สวนเคสทำนองนี้มักจะออกมาว่าคนผิดไม่มีวันตายในระบบราชการ ไม่สามารถดำเนินการหรือมีมาตรการลงโทษเขาได้” นางทิชา กล่าว

นางทิชา กล่าวว่า ทางออกของปัญหาดังกล่าว คือ ทุกครั้งที่เกิดกรณีแบบนี้ ควรให้มีคนนอกที่ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น นักวิชาการด้านสิทธิ หรือบุคคลที่ทำงานและมีความเชี่ยวชาญเรื่องปัญหาการคุกคามทางเพศ เข้าร่วมไต่สวนหาข้อเท็จจริงด้วย เพื่อสร้างดุลยภาพในการไต่สวน ทำให้มีการเอาผิดอย่างจริงจัง และไม่ถือว่าเป็นการเข้าไปแทรกแซง

น.ส.อังคณา อินทสา ฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า เชื่อว่ามีผู้หญิงอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกคุกคามลวนลามทางเพศในที่ทำงาน เพราะผู้กระทำมีวิธีคิดแบบชายเป็นใหญ่ และใช้อำนาจที่เหนือกว่า ขณะที่ผู้หญิงหลายคนที่ถูกคุกคามก็ไม่กล้าดำเนินการเอาผิด เพราะกลัวมีปัญหาเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน กลัวตกงาน ทำให้จำนวนการแจ้งเหตุร้องทุกข์มีน้อย

“หากสังคมยังนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ปัญหาก็จะยังคงอยู่ แต่ถ้าวันใดผู้เสียหายลุกขึ้นมาบอกว่าเรื่องแบบนี้มันเป็นปัญหา และสังคมเข้ามาสนับสนุนผู้เสียหาย กลไกที่มีอยู่ก็จะช่วยปกป้องผู้เสียหายได้ ที่สำคัญคนในสังคมต้องเปลี่ยนทัศนคติ ไม่มองว่าผู้หญิงที่ถูกลวนลามเป็นฝ่ายผิด แต่ควรให้กำลังใจและช่วยเหลือเยียวยาอย่างดีที่สุด หมดยุคที่จะคิดว่าการคุกคามทางเพศเป็นแค่เรื่องส่วนตัว และคิดว่าถึงเวลาต้องสังคายนา กฎ ก.พ. ให้มันมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ รวมถึงอาจจะออกแบบให้มีหน่วยงานกลางขึ้นมารับมือกับเรื่องนี้ในระบบราชการ” น.ส.อังคณา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น