xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด สปสช.เห็นชอบลดงบ “ล้างไต” ยันไม่มีร่วมจ่าย จ่อทบทวนขั้นตอนเปลี่ยนวิธีรักษารวดเร็วขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บอร์ด สปสช. เห็นชอบแนวทางลดงบประมาณ “ล้างไต” จ่อทบทวนกระบวนการเปลี่ยนวิธีรักษาให้รวดเร็วขึ้น พร้อมคุมมาตรฐานคลัง - การจัดส่งน้ำยาล้างไต เน้นชะลอไตเสื่อม ยันไม่มีการร่วมจ่าย

จากกรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ขอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ทบทวนสิทธิการบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในระบบบัตรทอง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงและสร้างภาระให้กับงบประมาณ ทำให้ผู้ป่วยหวั่นว่าจะมีการร่วมจ่าย

ในการประชุมบอร์ด สปสช. เมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีวาระการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานบอร์ด สปสช. กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต เพื่อลดงบประมาณในการดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง โดยจะประสานให้ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยและสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ทบทวนกระบวนการเปลี่ยนวิธีบำบัดรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ระหว่างการล้างไตทางช่องท้อง และการฟอกเลือด เพื่อให้มีความรวดเร็วขึ้น โดยให้อยู่ที่การวินิจฉัยของแพทย์ว่าแบบใดเหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ด้วย เช่น การเดินทาง ฯลฯ เนื่องจากที่ผ่านมาต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการระดับเขต นอกจากนี้ ยังให้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขร่วมกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ศึกษาผลลัพธ์ทางคลินิกและความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการล้างไตแต่ละวิธีมาเสนอต่อไป ส่วนเรื่องการบริหารจัดการคลังและการจัดส่งน้ำยาล้างไต จะขอความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในควบคุมมาตรฐานและต่อรองราคา เพื่อช่วยลดภาระงบประมาณในระยะยาว

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนไตในปัจจุบันที่ยังให้บริการได้น้อย ก็ขอให้ศึกษาเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการล้างไต และเดินหน้าชะลอผู้ป่วยรายใหม่เข้าสู่ระบบ เช่น คลินิกชะลอไตเสื่อมก็มีข้อมูลว่าสามารถชะลอการเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายได้ หรือการส่งเสริมการใช้ยาสมเหตุสมผล เป็นต้น เพื่อลดคนไข้เข้าสู่ระบบและลดแรงกดดันด้านงบประมาณ ซึ่งการส่งเสริมและการป้องกันถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการลดผู้ป่วยและลดงบประมาณในการรักษา

รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตฯ กล่าวว่า งบประมาณค่าบริการทดแทนไตในปีนี้อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้รับงบประมาณเพิ่มอีก 8 พันล้านบาท แต่ก็ต้องดำเนินการเรื่องการลดงบประมาณ แต่ไม่อยากให้กังวลเรื่องของการร่วมจ่าย เพราะคงไม่มีการดำเนินการเนื่องจากงบประมาณก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ แต่หากควบคุมมาตรฐานเรื่องของการขนส่ง การเปลี่ยนวิธีบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมกับคนไข้ ระหว่างการล้างไตทางช่องท้อง หรือการฟอกเลือดล้างไต ตามการวินิจฉัยของแพทย์ ก็น่าจะประหยัดงบประมาณลงได้อีก และการให้ศึกษาผลลัพธ์ทางคลินิกของการล้างไตก็จะช่วยให้ได้ข้อมูลทางวิชาการมาช่วยตัดสินใจมากขึ้นในการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับคนไข้ ตรงกับโรค และมีความปลอดภัยมากขึ้น

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า อยากให้ สปสช. สนับสนุนเรื่องการเปิดคลินิกชะลอไตเสื่อม เนื่องจากมีข้อมูลการศึกษา พบว่า ช่วยยืดระยะเวลาไตเสื่อมได้ถึง 7 ปี และช่วยให้ลดงบประมาณล้างไตประมาณปีละหมื่นล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น